svasdssvasds

มติเอกฉันท์ สภาเลื่อนญัตติตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน ขึ้นมาพิจารณาเร็วขึ้น

มติเอกฉันท์ สภาเลื่อนญัตติตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน ขึ้นมาพิจารณาเร็วขึ้น

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

วันนี้ (13 ก.ย. 62) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 54 วงเล็บ 2 ขอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ที่ฝ่ายค้านเสนอ ขึ้นมาพิจารณาก่อน

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษวันนี้ เป็นเจตนาเพื่อสะสางญัตติด่วนอยู่ 23 วาระ ที่ค้างอยู่ตั้งแต่เดือนละกรกฎาคม จากระเบียบวาระทั้งหมด 117 ระเบียบวาระ โดยมีเรื่องสำคัญคือญัตติด่วนเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษตกค้างเป็นอันตรายแก่เกษตรกรและผู้บริโภค

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวหารือสนับสนุนแนวทางของประธานสภาผู้แทนราษฎร และเห็นควรให้พิจารณาญัตติด่วนตามระเบียบวาระ และอยากให้มีการหารือปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เห็นด้วยว่าหากมีการพิจารณาเรื่อง EEC และสารเคมีในภาคเกษตรกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรหารือถึงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน

จากนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า การขอให้เลื่อนญัตติของฝ่ายค้าน ไม่ใช่การขอให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรก แต่ขอให้อยู่ต่อจากญัตติด่วนที่ 6 เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44

ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า วิปทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความสรุปร่วมกันว่าควรจะเลื่อนขึ้นเป็นญัตติต่อจากญัตติด่วนที่ 6 ซึ่งเข้าใจว่าการประชุมวันนี้จะใช้เวลาไปกับการอภิปรายเกี่ยวกับ EEC และการใช้สารเคมีภาคการเกษตร หากมีเวลาเหลือ อาจจะมีการหารือถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนปิดการประชุมเวลา 18 นาฬิกาวันนี้ จึงเป็นไปได้สูงว่าจะไม่มีการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขอเลื่อนขึ้นมาต่อจากญัตติที่ 6 เพื่อที่จะได้เป็นญัตติแรกๆ ในสมัยประชุมหน้า โดยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ก็ยอมให้มีการเลือกขึ้นมาต่อจากญัตติด่วนที่ 6 ตามที่ฝ่ายค้านเสนอมา

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกัน ก็ขอให้มีการเลื่อนญัตติขึ้นมาไว้ในกลุ่มเดียวกันกับญัตติของฝ่ายค้าน หากมีการเลื่อนขึ้นมาต่อท้ายญัตติด่วนที่ 6

จนในที่สุด นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ของมติที่ประชุมโดยมีมติเอกฉันท์ 425 ต่อ 0 เสียง เลื่อนญัตติด่วนที่ 7 ขึ้นมาต่อท้ายญัตติด่วนที่ 6 ที่รองศาสตราจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบการกระทำของ คสช. ซึ่งคาดว่าจะเป็นญัตติอันดับแรกๆ ที่จะได้พิจารณาในสมัยประชุมครั้งถัดไป ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วนที่ค้างอยู่ตามลำดับ

จากนั้น นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  ฐานะประธานคณะทำงานศึกษาต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ยื่นญัตติด่วนที่มีส.ส.ของพรรค จำนวน 50 คนร่วมเข้าชื่อ เพื่อขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ผ่านเจ้าหน้าที่สภาฯ​

เพื่อจะนำไปรวมกับญัตติที่เสนอในเรื่องเดียวกันซึ่งมีส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเสนอให้สภาฯ พิจารณา ช่วงเดือนพฤศจิกายน ในสมัยประชุมสภาสามัญ ครั้งที่สอง และการพิจารณาในรายละเอียดที่มีกมธ.ฯ มาจากทุกพรรคการเมือง จะไม่มีความขัดแย้ง ขณะที่การกำหนดกรอบและแนวทางนั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกมธ.ฯ​พิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามถึงการศึกษาจะเชิญบุคคลภายนอก เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มาชี้แจงหรือให้คำปรึกษาหรือไม่ นายวิเชียร กล่าวว่า ต้องให้กมธ.ฯ​พิจารณาร่วมกัน​อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับญัตติที่เสนอให้สภาฯ ตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ล่าสุดมีเสนอต่อสภาฯ​แล้ว 4 ญัตติ คือ ญัตติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายคัาน, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะถึงลำดับการพิจารณาช่วงเดือนพฤศจิกายน สมัยประชุมสภาฯสามัญ ครั้งที่ 2

related