svasdssvasds

"ประภัตร" พลิกวิกฤติเป็นโอกาส สั่งศึกษาแผนรับมือ พายุไต้ฝุ่น "ฮากิบิส" ปรับใช้ในไทย

"ประภัตร" พลิกวิกฤติเป็นโอกาส สั่งศึกษาแผนรับมือ พายุไต้ฝุ่น "ฮากิบิส" ปรับใช้ในไทย

"ประภัตร" พลิกวิกฤติเป็นโอกาส สั่งเจ้าหน้าที่ติดตาม ศึกษาแผนรับมือพายุไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” และแนวทางแก้ปัญหาให้กับประชาชนหลังเผชิญภัยธรรมชาติที่รุนแรงของญี่ปุ่น นำมาปรับใช้กับประเทศไทย พร้อมขอบคุณพี่น้องชาวไทยที่ส่งกำลังใจไปให้ตนและคณะทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง สถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” ว่า  ตนพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ที่เดินทางไปประชุมความร่วมมือด้านการเกษตร และการศึกษาดูงานด้านการจัดตั้งตลาดปลา ขององค์การสะพานปลา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตน ณ ประเทศญี่ปุ่น ยังคงพักที่โรงแรม ณ กรุงโตเกียว เนื่องจากพายุฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้  เพราะอาจได้รับความเสี่ยงจากซุปเปอร์ไต้ฝุ่น “ฮากิบิส”

จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ที่คล้ายกับสถานการณ์อุทกภัยในภาคอีสานของประเทศไทยที่ผ่านมา  ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ตนมีความพยายามที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน ในการนี้ ตนได้สั่งการให้คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และผู้ติดตามทุกคน ศึกษาแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะเร่งด่วน และการช่วยเหลือหลังสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นว่ามีแนวทางอย่างไร ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์เบื้องต้น  คาดว่านอกจากความเสียหายในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ แล้ว ในส่วนของพืชผลทางการเกษตรอาจจะได้รับความเสียหายจำนวนมากไม่ต่างจากสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย

ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามและสังเกตกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาคเอกชน สถานทูตต่าง ๆ  มีการบูรณาการทำงานที่ดีมาก มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น “ฮากิบิส”  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหารยังชีพในช่วงที่เกิดพายุ  มาตรการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ของภาครัฐ

เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยอย่างมาก ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีความ ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์พายุที่เกิดขึ้นมากนัก  ซึ่งในส่วนของหน่วยงานราชการต่าง ๆ และ สถานทูตต่าง ๆ มีการติดต่อประสานงาน ดูแล และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ให้ความช่วยเหลือการติดต่อประสานงานด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนที่เดินทางทุกคนมีความอุ่นใจและเชื่อมั่นในมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือพายุ “ฮากิบิส” ของประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

“ที่ไหนๆๆ ก็เดินทางมาแล้ว วันนี้ผมและคณะมาเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือความร่วมมือด้านเกษตรและมาดูตลาดโทยูสุ ที่กรุงโตเกียว ตอนนี้ผมและคณะทำงานฯ ติดพายุ "ฮากิบิส" อยู่ที่โรงแรมฯ ผมจึงได้สั่งการให้คณะทำงานทุกคนติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรับมือ การช่วยเหลือ ดูสิว่าญี่ปุ่นเขาทำอย่างไร เพื่อนำข้อมูล ความรู้มาเป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาและวางแผนรับมือภัยธรรมชาติที่ประเทศไทย เท่าที่ดู แม้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พบว่า ทางการญี่ปุ่นมีการแจ้งประชาชนให้รับทราบและรับมือในการเตรียมความพร้อมเรื่องต่าง ๆอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น อาหารในการยังชีพ การปฏิบัติตามข้อปฏิบัติต่าง ๆ ขณะนี้ ผมได้ให้อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร ประจำกรุงโตเกียว ตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนอาหารเพื่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ ข้าว เพราะหลังสถานการณ์พายุคลี่คลายลงอาหารจะแพงขึ้นมากน้อย เพื่อที่จะมาพูดคุยหารือกันว่าประเทศไทยจะช่วยญี่ปุ่นได้อย่างไรมากน้อยแค่ไหน” นายประภัตร กล่าว

นายประภัตร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนและคณะทำงานทุกคนยังคงพักที่โรงแรมในกรุงโตเกียว ทุกคนปลอดภัยดี สุขภาพร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจดีมาก เพราะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และได้รับกำลังใจจากพี่น้องชาวไทยทุกคนอย่างต่อเนื่อง ตนและคณะจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม ซึ่งคาดว่าสถานการณ์พายุน่าจะคลี่คลายลงแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-รวมลิ้งค์ถ่ายทอดสดพายุญี่ปุ่น “ไต้ฝุ่นฮากิบิส”

-ไต้ฝุ่นฮากิบิส! ชาวเน็ตคาด ระดับน้ำที่ญี่ปุ่นจะได้รับ 2 วัน เท่ากรุงเทพรับทั้งปี

-ระทึก! ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” จ่อถล่มญี่ปุ่น ความรุนแรงเท่าเฮอริเคนระดับ 5

-สถานการณ์ล่าสุด ญี่ปุ่นเตรียมตัวรับมือ”ฮากิบิส” ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นแห่งปี

 

 

related