svasdssvasds

"สรศักดิ์" รับมีเสียบบัตร ส.ส.ฉลอง แทนจริง เตรียมส่งเรื่องเข้าสภาฯ พรุ่งนี้

"สรศักดิ์" รับมีเสียบบัตร ส.ส.ฉลอง แทนจริง เตรียมส่งเรื่องเข้าสภาฯ พรุ่งนี้

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยผลการตรวจสอบกรณีการเสียบบัตรแทน “ฉลอง” ส.ส.พรรคภูมิใจไทย รับมีการเสียบบัตรแทนกันจริง แต่ระบุไม่ได้ว่าใครเป็นคนเสียบแทน พร้อมเตรียมนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมสภาวันพรุ่งนี้

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงว่านายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส. จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย มีการให้บุคคลอื่นเสียบบัตรลงคะแนนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า

เมื่อเช้าได้มีการเรียกฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายรายงานและชวเลขของสภามาประชุม ซึ่งผลพบว่า การกล่าวหาของนายนิพิฏฐ์ถึงกรณีการเสียบบัตรแทนกันนั้นเป็นเรื่องจริง โดยพบว่า ในการลงมติตั้งแต่มาตรา 31 จนถึงมาตรา 55 และข้อสังเกต พบมีรายชื่อของนายฉลองลงมติจริง รวมถึงได้มีการเรียกเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาบัตรลงคะแนน ปรากฎว่าบัตรลงคะแนนของนายฉลองถูกเบิกไปใช้จริงในการลงมติตั้งแต่วันที่  8-11 มกราคม 2563 และได้มีการนำกลับมาคืนโดยการเสียบทิ้งไว้ในช่องเสียบบัตรในช่วงเย็นของวันที่ 11 มกราคม และเมื่อไปตรวจสอบกับฝ่ายเทคนิคในเรื่องของช่องเสียบบัตร และส่วนที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดโทรทัศน์ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัตรของนายฉลองถูกนำไปเสียบใช้ที่ช่องเสียบบัตรช่องใด

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บอกว่าคณะกรรมการที่ตรวจสอบมีความเห็นในเรื่องนี้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นจริง และทำให้ผลการลงมติตั้งแต่มาตรา 31-55 และข้อสังเกตไม่ชอบ ซึ่งทางคณะกรรมการได้พิจารณาถึงการดำเนินการต่อเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยได้ยึดเอาตามมาตรา 139 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า

”ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอหรือส่งให้พิจารณานั้น เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป”

ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่จะทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และผู้ที่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่ากระบวนการในการตรากฎหมายนี้เห็นชอบหรือไม่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้คณะกรรมการยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องของผลการลงคะแนนนั้น แม้จะเป็นเพียงเสียงเดียว ซึ่งอาจจะไม่ไปกระทบให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป แต่ทั้งนี้คณะกรรมการก็เคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็จะต้องดำเนินการตามนั้น และเรื่องนี้ตนได้รายงานให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยได้มีการนำเรียนว่าเพื่อให้เกิดหลักที่ถูกต้อง เรื่องนี้ควรจะมีการหารือกันอีกครั้งในที่ประชุมของสภาด้วย เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

และจะต้องรอดูผลมติจากที่ประชุมสภาในวันพรุ่งนี้เป็นหลักว่า ที่ประชุมสภาจะเอาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้หากอาศัยอำนาจตามมาตรา 139 ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกับวุฒิสภา จำนวน 1 ใน 10 ประมาณ 75 คน เพื่อเข้าชื่อเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะต้องมีการชะลอการพิจารณาของวุฒิสภาที่กำลังพิจารณาอยู่หรือไม่นั้น นายสรศักดิ์ บอกว่า ทางคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายนิพิฏฐ์ที่จะให้หยุดยั้งไว้ เพราะควรดำเนินการให้เป็นไปตามช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในที่ประชุมสภาพรุ่งนี้อาจจะมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการก็ได้

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสภาฯ ยอมรับว่า จากการพยายามดูหลักฐานกล้องต่างๆ แล้ว ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้นำบัตรของนายฉลองไปใช้ลงคะแนน เพราะกล้องไม่สามารถจับภาพได้ทั้งหมดทุกคน แต่ยืนยันว่าหลังการประชุมแต่ละวัน มีสมาชิกบางคนได้ทิ้งบัตรไว้ในช่องเสียบบัตร แต่จะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บบัตรที่เสียบทิ้งไว้ออกมา ซึ่งในส่วนของบัตรของนายฉลองนั้นไม่ปรากฎว่ามีการเสียบทิ้งไว้ และมีเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีการเก็บเอาไว้ และคิดว่าบัตรของนายฉลองมีคนอื่นเก็บไว้หลังการพักการประชุมในคืนวันที่ 10 มกราคมและนำกลับมาใช้อีกครั้งในวันที่ 11 มกราคม

related