svasdssvasds

นายกฯ ขอบคุณทุกคนร่วมสู้โควิด จนประเทศ “ฟื้นตัวดีสุด” ติดอันดับ 2 ของโลก

นายกฯ ขอบคุณทุกคนร่วมสู้โควิด จนประเทศ “ฟื้นตัวดีสุด” ติดอันดับ 2 ของโลก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณคนไทยทุกคนร่วมต่อสู้ไวรัสโควิด 19 จนประเทศ “ฟื้นตัวดีสุด” ติดอันดับ 2 ของโลก

วันที่ 14 มิ.ย.63 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคน ที่มีระเบียบวินัย เข้มแข็งและอดทน ร่วมกันต่อสู้ต่อและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวดีสุด ติดอันดับ 1 ของเอเชีย อันดับ 2 ของโลก โดยดัชนีโควิด-19 โลก หรือ Global COVID-19 Index (GCI)  ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยสมาคม PEMANDU ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเลเซีย (MOSTI) และกลุ่มบริษัทซันเวย์ ดำเนินการจัดอันดับ 184 ประเทศ ที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับดังกล่าว พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก การจัดอันดับจาก 184 ประเทศ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้คะแนนทั้งหมด 83.32 คะแนน จากทั้งหมด 100 คะแนน ส่วนอันดับ 1 เป็นของประเทศออสเตรเลียได้ 86.34 คะแนน 

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่าผลจากการจัดอันดับข้างต้น นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ที่มีระเบียบวินัย เข้มแข็งและอดทน ร่วมกันต่อสู้ต่อและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จนเป็นตัวอย่างประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ทำให้ประเทศไทยได้คะแนนอันดับ 2 จากการการฟื้นตัวดีที่สุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลทราบดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน แต่ทุกฝ่ายก็ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีที่จะให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ทั้งนี้ GCI อธิบายว่าการจัดอันดับนี้ ให้น้ำหนักร้อยละ 70 กับการขับเคลื่อน และการเปลี่ยนแปลง ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน โดยพิจารณาจาก จำนวนผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ต่อประชากร, อัตราการหายป่วยต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ, จำนวนการทดสอบหาเชื้อ ต่อผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน, จำนวนการตรวจสอบหาเชื้อต่อประชากรทั้งประเทศ

ส่วนอีกร้อยละ 30 พิจารณาจากข้อมูลทางสถิติ ที่เก็บรวบรวมมาจากดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก (GHS) ที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์

related