svasdssvasds

"บิ๊กตู่" สั่งฟันแกนนำม็อบผิดซ้ำ หวั่นยุยงปลุกปั่น

"บิ๊กตู่" สั่งฟันแกนนำม็อบผิดซ้ำ หวั่นยุยงปลุกปั่น

บิ๊กตู่ กำชับตำรวจเอาผิดแกนนำม็อบ ทั้งที่มีคดีค้างเก่า และยุยงปลุกปั่น ชุมนุมขัดกฎหมาย อาจก่อความไม่สงบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และการประชุมคณะกรรมนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) วานนี้ว่า (30 ก.ค.) มีความเป็นห่วงและกังวลการชุมนุม จึงได้มอบหมายให้ตำรวจไปพิจารณาการใช้กฎหมายให้เหมาะสม

ต่อมา พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร.แถลงว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับสถานการณ์การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในช่วงนี้ว่า ให้ตำรวจดำเนินคดีเด็ดขาดกับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมที่มีหมายจับค้างเก่า มีคดีติดตัว หรือได้รับการประกันตัวออกมา แต่กลับมายุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือกลับมากระทำผิดซ้ำ ด้วยการจัดการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ

ส่วนกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายนั้น ขอให้ยึดปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ โดยแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า ซึ่งตำรวจไม่ขัดข้องหากเป็นการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตย และไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

 

ทั้งนี้เกิดกระแสข่าวที่ตำรวจตระเวนชายแดน จัดเตรียมสถานที่ไว้เพื่อรองรับผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอกนั้น พล.ต.ท.ปิยะยืนยันไม่เป็นความจริง โดยหน่วยงานความมั่นคงได้มีการตรวจสอบไปยังตำรวจตระเวนชายแดนพบว่า เป็นการสั่งการภายในของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อตรวจสอบและจัดการสถานที่ตามปกติ ไม่ได้มีนัยใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ขณะเดียวกันด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะตำรวจให้เข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของทุกกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยขอให้เพิ่มมาตรการคัดกรอง มิให้มีการแทรกแซงหรือการใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อกัน รวมถึงให้ระมัดระวังการเผชิญหน้า ที่อาจมีความเห็นและจุดยืนต่างกัน ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง โดยขอให้ใช้บทเรียนในอดีตในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยปลอดภัยของสังคมในภาพรวม

นอกจากนี้ ขอให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุม ถึงการปฏิบัติและความรับผิดชอบของการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นตามกรอบกฎหมายที่กำหนด โดยเฉพาะขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน ใช้ความความสุภาพและระมัดระวังอย่างที่สุด มิให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ยืนยันว่ารัฐบาลเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นและการแสดงออกถึงความหวังดีของทุกกลุ่มชุมนุม พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาของสังคมและประเทศชาติไปด้วยกัน

 

ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วานนี้(30ก.ค.)นำโดยนายทศพล มนูญญรัตน์ ได้รวมตัวกับนักศึกษาอาชีวะจากหลายสถาบัน ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และประชาชน เพื่อแสดงจุดยืนออกมาร่วมกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

พร้อมอ่านแถลงการณ์ โดยสรุปว่า จากการจัดกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่ม สนท.ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.2563 ต่อมาได้เกิดการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และมวลชน ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น กิจกรรมดังกล่าวแม้จะยื่นข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏหลักฐานและข้อเท็จจริงว่า มีการแสดงออกเพื่อต้องการท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม

สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม แต่แกนนำการชุมนุมกลับบ่ายเบี่ยงปฏิเสธ โดยยืนกรานไม่รู้ไม่เห็นกับหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำ ได้สร้างความสับสนและความกังวลให้กับประชาชนทั่วไป และยังส่งผลต่อการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด

ทางกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ จึงขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น และมิได้ต่อต้านการชุมนุมทางการเมืองโดยเจตนาเพื่อรักษาประชาธิปไตย แต่ต้องตระหนักถึงการกระทำที่ไม่ก้าวล่วงไปในขอบเขตที่อาจนำพาสังคมไทยเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง โดยกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ จะเคลื่อนไหวให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเจตนาที่แท้จริงของผู้ที่อยู่เบื้องหลังการใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือในการต่อต้านล้มล้างสถาบัน จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกัน ชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์สื่อถึง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

นายทศพล ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่ฝ่ายค้านมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มมีรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ยืนยันไม่เป็นความจริง การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีเพียงตนและเพื่อนอีก 2 คน ทั้งนี้ หากกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือผู้อยู่เบื้องหลังยังมีพฤติกรรมต่อต้านหรือล้มล้างสถาบัน กลุ่มอาชีวะช่วยชาติอาจจะออกมาเคลื่อนไหว แต่ยืนยันว่าจะไม่มีความรุนแรงหรือการเผชิญหน้า และขออย่านำสถานการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตเพราะแตกต่างกัน ส่วนจะเรียกร้องให้ใช้มาตรา 112 กับคนที่ถือป้ายข้อความไม่เหมาะสมหรือไม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องทางกฎหมาย ทางกลุ่มมีหน้าที่อย่างเดียวคือปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่การดูแลการชุมนุมกลุ่มอาชีวะช่วยชาติครั้งนี้ มีตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 สน.ชนะสงคราม และสน.สำราญราษฎร์ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาดูแลความสงบเรียบร้อย

 

วันเดียวกันนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพจากหน้าเพจเฟซบุ๊คของสื่อหลายแห่งในการถ่ายทอดสดพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และมีข้อความที่ไม่เหมาะสมแสดงขึ้นมา โดยเป็นคำแปลจากข้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่มีความหมายไม่ถูกต้องนั้น กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ และ ได้ประสานไปยังเฟซบุ๊คแล้ว

ขณะที่ไทยพีบีเอสเองก็ได้แจ้งความไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินคดีกับเฟซบุ๊คแล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงฯไม่เคยนิ่งนอนใจกับการดำเนินการเว็บไซต์ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งยูทูบให้ความร่วมมือ 90% ขณะที่เฟซบุ๊คให้ความร่วมมือเพียง 30% เท่านั้น เห็นได้ว่าเฟซบุ๊คไม่ให้ความร่วมมือเลย ทั้งๆ ที่เขามาทำงานในประเทศไทย มาให้บริการกับคนไทย จึงควรที่จะเข้าใจบริบทของสังคมไทย ยอมรับในสิ่งที่คนไทย ยึดมั่น นับถือ และรับผิดชอบสังคมไทยด้วย ไม่ใช่ส่งไปให้ปิดแล้วก็นิ่งเฉย คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจคิดว่ากระทรวงฯนิ่งเฉย เมื่อต้นเรื่องที่ต่างประเทศไม่ให้ความร่วมมือ กระทรวงฯก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกระบวนการทำงานของกระทรวงฯได้ประสานไปหมดทุกขั้นตอนแล้ว

วันที่ 30 ก.ค. 2563 กระทรวงฯและ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ได้หารือร่วมกัน ถึงมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับเรื่อง “การกระทำความผิดทางออนไลน์ ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกันในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้มีการแจ้งผลการดำเนินการรวดเร็วขึ้น มีความต่อเนื่องในการทำงานมากขึ้น

จากเดิมที่คณะทำงานเดิมอาจจะทำงานไม่ต่อเนื่องในเรื่องของรายชื่อคนเข้ามาประชุมและไม่ได้มีการรายงานผลการปิดเว็บไซต์แบบรวดเร็ว ซึ่งต่อจากนี้คณะทำงานชุดนี้ต้องนำมาปัดฝุ่นให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อไอเอสพีด้วยว่าไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่และอาจ ซึ่งในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563 กระทรวงได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว 7,164 ยูอาร์แอล (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.2563) จากจำนวนที่กระทรวงฯ ได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล และมีการส่งศาล 7,164 ยูอาร์แอล

สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งข้อมูลเข้ามา พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีช่องทางอื่นๆ บ้าง ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้กับ บก.ปอท. จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล พร้อมพยาน หลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

 

 

related