svasdssvasds

ครม.ไฟเขียวบริหารจัดการแร่ทองคำ7ด้าน

ครม.ไฟเขียวบริหารจัดการแร่ทองคำ7ด้าน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ครม.รับทราบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการแร่ทองคำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ใน 7 ด้าน ทั้งการบริหารจัดการแหล่งแร่ ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐและท้องถิ่น


วันที่ 4 ส.ค.60 นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ทีผ่านมา ได้รับทราบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว ในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด ซึ่งกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ นโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ในการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่


1. ด้านการบริหารจัดการแหล่งแร่ทองคำ กำหนดให้มีการประมูลสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ที่ภาครัฐสำรวจและมีข้อมูลเพียงพอ ห้ามมิให้ส่งออกโลหะผสมทองคำไปต่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขการ จ้างงานชาวไทย ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน ยกระดับการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายระหว่างผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่การผลิต


2. ด้านผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐและท้องถิ่น ปรับปรุงผลตอบแทนแก่รัฐให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และกระจายผลประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นและท้องถิ่นอื่นที่อยู่ติดกันด้วย จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่


3. ด้านความปลอดภัย การป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ กำหนดให้มีการตั้งกองทุน วางหลักประกัน และการทำประกันภัยต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการเยียวยาแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง และการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน


4. ด้านการกำกับดูแลการประกอบการ มีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดจากภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการ


5. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในขั้นตอนการขออนุญาต โดยการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทั้งในขั้นตอนการขอประทานบัตรและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการประกอบกิจการ ซึ่งจะกำหนดให้มีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำด้วย

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)


6. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามและผ่านการทวนสอบมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) ยกระดับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำให้มีความรับผิดชอบตามมาตรฐานสากล (Responsible gold mining practice)


7. ด้านอื่น ๆ กำหนดให้การขอต่ออายุประทานบัตรแร่ทองคำและการเพิ่มชนิดแร่ทองคำ ใช้นโยบายนี้โดยอนุโลม แต่ไม่ครอบคลุมถึงการร่อนแร่ทองคำ

20170404114300



นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ไปกพร.จะออกประกาศและจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำดังกล่าว เพื่อให้ภาครัฐและท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่เหมาะสม ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำเพิ่มขึ้น ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำลดลง ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำมีการประกอบกิจการที่มีมาตรฐานสากล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

related