svasdssvasds

บรรทัดฐาน 'ศาลฎีกา'  สะกดม็อบ 'เหลือง-แดง' ฝ่อ?

บรรทัดฐาน 'ศาลฎีกา'  สะกดม็อบ 'เหลือง-แดง' ฝ่อ?

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2551 ส่งผลให้ 2 อดีตนายกรัฐนตรี คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รวมทั้ง 2 บิ๊กตำรวจ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. พ้นมลทิน แต่ดูเหมือนคดียังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อมีปฏิกิริยาจากอดีตแกนนำพันธมิตรฯ กดดันให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อุทธรณ์คดีตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะคดีดังกล่าวจะนำไปสู่บรรทัดฐานให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยปราศจากความผิดได้ในอนาคต


*ห่วงรัฐย่ามใจ-มวลชนเสียสิทธิ

นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหา- วิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ศาลยกฟ้องคดีดังกล่าว เป็นบรรทัดฐานที่น่าสนใจมาก เพราะประการแรก การดำเนินการที่ผ่านมา อย่างกรณียกฟ้อง รวมทั้งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นอุทธรณ์ และหากมีการฎีกาต่ออีก แล้วผล ออกมาว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง จะทำให้ฝ่ายบริหารย่ามใจในการใช้อำนาจโดยอ้างว่าประชาชนฝ่าฝืน อาจโยนความผิดให้ฝ่ายปฏิบัติหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ว่าทำเกินเหตุหรือไม่

ประการที่ 2 เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 คนอ้างข้อกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน อ้างว่าฝูงชนบุกรุกเข้าไปในรัฐสภาไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเขาสามารถทำตามขั้นตอนการปฏิบัติได้ นับเป็นบรรทัดฐานที่น่าสนใจอีกประการ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองลดน้อยลง ซึ่งการเข้าไปในสถานที่ราชการ หรือสถานที่สาธารณะ ถ้าเราดูจากภาพมวลชนก็ไม่ได้ทำลาย ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้เข้า บางคนปีน หรือฝ่าฝืนเข้าไปบ้าง โดยรูปแบบเป็นเรื่องการเข้าไปในสถานที่สาธารณะมากกว่า ส่วนห้องประชุมรัฐสภาเป็นเขตหวงห้าม หรือเป็นที่เฉพาะในการประกาศของรัฐสภาเอง ก็เข้าข่ายสถานที่สาธารณะแน่นอน ทำให้สิทธิของประชาชนลดลง ต่อไปการเคลื่อนไหวหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามหลักรัฐศาสตร์ก็ถือว่าไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการทำให้สิทธิเสรีภาพประชาชนลดลง

“ถ้าเป็นอย่างนี้คิดว่าบรรยากาศต่อไปจะน่ากลัว ถ้าได้รัฐบาลที่ไม่ดี หรือบ้าอำนาจ อาจจะนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนได้ เพราะประชาชนไม่มีโอกาสแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้อง” นักวิชาการสาขารัฐศาสตร์ มสธ. กล่าว


*“คมสัน” ชี้ม็อบเกิดยาก

นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนมุมมองว่า ผลจากคำพิพากษายกฟ้องคดีสลายม็อบ พธม.จะทำให้การชุมนุมทางการเมืองในอนาคต ปิดประตูได้เลย เพราะในอนาคตคงไม่มีการชุมนุมทางการเมือง ด้วยเหตุผลคือ 1.ผลจากคำพิพากษา 2.มีผลมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ ทำให้ผู้ที่จะชุมนุมสาธารณะก็ไม่อยากชุมนุมแล้ว จึงมองว่าการชุมนุมจะเกิดขึ้นยากในอนาคต เพราะฉะนั้นกระบวนการทั้งหลายที่รัฐบาลจะบริหารต่อไป ไม่ว่า กฎหมายปราบโกง หรือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐบาลจะปราบได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากระบวนการชุมนุมเหล่านี้นำไปสู่การร้องเรียน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าการชุมนุมมีฐานมาจากปัญหาคอร์รัปชัน เป็นส่วนใหญ่ ประเด็นชุมนุมในอนาคตจึงยากแล้ว ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยน แปลงไปมาก

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ท่านนี้ยังมองว่า การยกฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ จะไม่มีผลให้มวลชนที่มาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ในวันพิพากษาคดีทุจริตจำนำข้าวลดลงหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากจะมีผลต่อคนที่ไปปลุกเร้าให้เกิดม็อบหรือความรุนแรงขึ้น ถ้าชาวบ้านมาโดยสมัครใจ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการชุมนุมสาธารณะ ก็จะไม่โดน

 

บรรทัดฐาน 'ศาลฎีกา'  สะกดม็อบ 'เหลือง-แดง' ฝ่อ?

'ยื่นป.ป.ช. : อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาทิ พิภพ ธงไชย สุริยะใส กตะศิลา ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นหนังสือป.ป.ช.ให้อุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตรฯ'


*หวั่นติดดาบจนท.ปราบม็อบ

ขณะที่นายสุริยะใส กตะ-ศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ แสดงความเป็นห่วงว่าคำพิพากษานี้จะเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมได้ง่ายขึ้น เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ มีภาพวิดีโอปรากฏชัดว่ามีการใช้กระบองไล่ฟาด ไล่เตะผู้ชุมนุม พร้อมพูดว่าเอาให้ตาย ฆ่ามันๆ ยิงแก๊สนํ้าตา พร้อมคำพูดด้วยความสะใจ เหมือนแค้นมาจากไหน จะฆ่าประชาชนให้ได้ ซึ่ง ป.ป.ช.จะไม่อุทธรณ์ได้อย่างไร และต้องดูว่าทนายที่ ป.ป.ช.จ้างมาจะทำหน้าที่ได้เต็มที่แค่ไหน บกพร่องตรงไหน ต้องสรุปบทเรียน เพราะน่าเป็นห่วงว่านี่จะเป็นการติดดาบให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมในอนาคต ไม่ว่าสีไหนก็ตาม

*วอนป.ป.ช.ทบทวนสลายนปช.

ด้านท่าทีของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) น.พ.เหวง โตจิราการ 1 ในแกนนำนปช.กล่าวว่า คดีนี้ป.ป.ช.ฟ้อง 2 ประเด็นคือ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่สั่งสลายการชุมนุมกระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และประเด็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่เมื่อช่วงเช้ารู้แล้วว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ไม่ยับยั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกเหนือการสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สนํ้าตานั้น ทำให้ต้องตั้งคำถามกับป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยศพ แต่ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องยุติเรื่อง จึงขอเรียกร้อง ให้ป.ป.ช.ชุดนี้หยิบเรื่องนี้มาทบทวนใหม่อีกครั้ง

“หากอ้างว่าเป็นมติของป.ป.ช.ชุดเก่า ก็ควรที่ป.ป.ช.ชุดใหม่จะทบทวน ไม่เช่นนั้นความยุติธรรมของสังคมไทยจะเสียหาย และประชาชนที่เสียชีวิตจากกระสุนสงครามของทหารที่ทำตามคำสั่งศอฉ.เมื่อปี 2553 ก็จะตายฟรี” น.พ.เหวงระบุ

ความพยายามของอดีตพันธมิตรฯ และแกนนำนปช. ที่กดดันให้มีการทบทวนคดี เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ผลจากการยกฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ จะทำให้แกนนำมวลชนแต่ละฝ่ายหวาดหวั่นมากน้อยเพียงใด ในสภาวะที่สังคมไทยยังมีความแตกแยกสะสมมามากกว่า 10 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

related