svasdssvasds

ทางออกนอกตำรา : เบื้องหลัง “โอ๊ค” พัวพัน เงินปากถุงเงินกู้

ทางออกนอกตำรา : เบื้องหลัง “โอ๊ค” พัวพัน เงินปากถุงเงินกู้

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

 

 

ทางออกนอกตำรา

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

เบื้องหลัง “โอ๊ค” พัวพัน เงินปากถุงเงินกู้

กลายเป็น ทอล์ค ออฟเดอะทาวน์ กันทั้งคุ้งน้ำเจ้าพระยา ยันแม่น้ำตาปี เมื่อ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม" เป็นคำกล่าวของ มองเตสกีเออร์ ที่คุณทักษิณเพิ่งนำมาทวิตไป

พานทองแท้ ระบุว่า “...ขณะนี้ได้มีเอกสารหลุดอีกฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องของตัวผมโดยตรง ซึ่งเป็นของอดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ว่าได้รับคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับพานทองแท้ ทั้งๆ ที่ตนเองได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ผู้สั่งการทราบแล้วว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้นั้น ไม่ได้มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีได้ เป็นเหตุให้ตนเองต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งรองอธิบดีฯ ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้บรรยายเหตุการณ์ในการสั่งการอย่างไม่ชอบธรรม โดยมีพยานยืนยันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอเองอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

กระบวนการยุติธรรมของไทยเราทุกวันนี้ บิดเบี้ยวถึงขั้นจะตรวจสอบเรื่องข้าว หัวหน้าคสช.ก็สั่งการกับข้าราชการด้วยตัวเองว่า ไม่ต้องคำนึงกระบวนการยุติธรรม ใครไม่เร่งทำถือว่ามีความผิด….

 

 

“จะตรวจสอบคดีแบงก์กรุงไทย ซึ่งมีการกู้เงินนับหมื่นล้าน แทนที่จะไปตรวจสอบองค์กรที่ได้รับผลประโยชน์ก้อนใหญ่ หรือรายชื่อนายทหาร นายตำรวจ และบุคคลองค์กรอื่นๆ อีกกว่า 300 ธุรกรรม (รวมถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ และนายพลเรือคนดัง ก็มีชื่อรับโอนเงินก้อนดังกล่าวด้วย) กลับไม่สนใจจะตรวจสอบ แต่กลับมาสั่งการกับผู้ปฏิบัติแบบเน้นๆ ให้จ้องเอาผิดกับธุรกรรมทางการเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 0.1 % ของจำนวนเงินทั้งหมด เพียงเพราะว่าเป็นธุรกรรมทางการเงินของลูกอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัวเองตั้งธงเอาไว้แล้วว่า จะต้องยัดเยียดความผิดให้ได้….

เรื่องแบบนี้ ถ้าไม่เกิดกับลูกหลานตัวเองบ้าง ผู้มีอำนาจที่สั่งการกันมาเป็นทอดๆ อาจจะยังไม่รู้สึกหรอกครับ แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งเวรกรรมจะตามทัน...”

พานทองแท้ อ้างเรื่องเงินที่ได้รับจากกลุ่มกฤษดานครว่าแค่ 10 ล้านบาท เท่ากับ 0.1% ของเงินทั้งหมด ผมเป็นคนทำข่าวเรื่องนี้มากับมือเห็นว่า เรื่องนี้มิน่าจะยุติเพียงแค่นั้น ความจริงหลังจากที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดานคร ไปร่วม 1 หมื่นล้านบาท มีการโอนเงินให้ พานทองทองแท้ กับพวกรวม 2 ชุด สั่งจ่ายเข้าบัญชีพานทองแท้ ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางพลัด รวม 36 ล้านบาท

นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา และเจ้าของสำนวน 1 ใน 9 องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดานครโดยทุจริต ให้ความเห็นและวินิจฉัยเรื่องเส้นทางการเงินในคดีนี้เอาไว้ ดังนี้

“…เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2546 นายธีรโชติ พรมคุณ พนักงานของจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของจำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร และนำเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 184-0-47447-0 แต่ในวันเดียวกันมีการยกเลิกรายการ

ครั้นวันรุ่งขึ้นนายธีรโชติ ซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัท หลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ นางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขาส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

ต่อมานางเกศินี ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน

อย่างไรก็ดี นายพานทองแท้ ชี้แจงเป็นหนังสือต่อ คตส.ว่า จำเลยที่ 26 (นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย กฤษดาธานนท์) ฝากนายวันชัย หงส์เหิน (สามีนางกาญจนาภา หงส์เหิน) ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด ผ่านบัญชีของ นางเกศินี ครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2546

ซึ่งก่อนครบกำหนดชำระค่าหุ้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2546 จำเลยที่ 26 โทรศัพท์มาแจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของตนเพื่อฝากโอนให้บริษัท หลักทรัพย์ธนชาต ตนเกรงว่าอาจล่าช้าชำระไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้จำเลยที่ 26 ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต โดยตรง จำเลยที่ 26 จึงยกเลิกธุรกรรมที่นำแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีของตน

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้จะซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ และจะต้องแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อมีการสั่งขายหลักทรัพย์ หรือให้บริษัทหลักทรัพย์หักเงินจากบัญชีเมื่อมีการสั่งซื้อหลักทรัพย์

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทั้งนายพานทองแท้ และจำเลยที่ 26 มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง

หากจำเลยที่ 26 ได้ฝากนายวันชัย ซื้อหุ้นตามที่อ้าง จำเลยที่ 26 ย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของ นายวันชัย หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว

ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 26 ต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้ เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัย อีกทอดหนึ่ง

ข้ออ้างของนายพานทองแท้ จึงฟังไม่ขึ้น…

 

อย่างไรก็ตาม...คดีนี้มีความเห็นต่างระหว่างอัยการ กับ คตส. โดย คตส. ขอให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 27 คน และขอให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ และพวกรวม 4 คน ในความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 แต่ นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุด ขณะนั้น เห็นว่า

1.ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอำนาจต่อไป

2.ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมิได้เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด จึงไม่อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังนั้น คตส.ซึ่งอาศัยอำนาจของ ป.ป.ช.มาทำหน้าที่ จึงไม่มีอำนาจไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่และไม่อาจมีความเห็นในความผิดฐานรับของโจร

3.หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา แยกออกไปจากคดีที่ฟ้องจำเลย 27 คนต่อศาลฎีกาฯ

ต่อมาพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ไปร้องให้ดำเนินการสอบสวนนายพานทองแท้ กับพวก 2 ข้อหา คือ ข้อหารับของโจร และข้อหาฟอกเงิน คดีรับของโจรนั้นมีอายุความ 10 ปี และอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี หมดอายุความไปแล้ว

เหลือข้อหาฟอกเงิน ที่มีอายุความ 15 ปี อยู่ในมือของดีเอสไอ คดีนี้มีอัตราโทษไม่เกิน 10 ปี

จะเห็นว่าไม่มีข้อไหนที่ศาลและอัยการบอกว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้นั้น ไม่ได้มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีได้

นี่คือบ่วงกรรมของพานทองแท้ ที่เข้าไปพัวพันกับการรับเงินปากถุงในการปล่อยกู้....ชนิดที่ชาวบ้านทั่วไปทำไม่ได้....แม้แต่คนเล่าข่าวอย่าง สรยุทธ สุทัศนจินดา ก็ต้องคดีถูกจำคุก 13 ปี...แม้ว่าจะจ่ายเงินคืนให้อสมท.ไปแล้ว

 

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หน้า6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3296 ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย.2560

related