svasdssvasds

ย้อนรอยทุจริต "ฮั้วประมูลรถดูดโคลน"

ย้อนรอยทุจริต "ฮั้วประมูลรถดูดโคลน"

ยุทธการปราบโกงฮั้ว ที่ทางตำรวจเตรียมลงตรวจสอบหาหลักฐานเอาผิด 11 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 10 จังหวัด พบว่าเป็นการกระทำผิดในกลุ่มบริษัทที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้เคยดำเนินการคดีไปแล้ว 1 กลุ่มในล็อตแรก ไปย้อนดูพฤติการณ์การก่อเหตุของกลุ่มกระทำผิดกลุ่มนี้เป็นอย่างไร ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน

พบหลักฐานเพียงพอให้เอาผิด...

วันที่ 14 กันยายน 2559 ตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. สนธิกำลังร่วมหลายหน่วยงาน เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 13 จุด ทั้งบ้านพักนายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่ อบต. และบริษัทที่ร่วมทุจริตฮั้วประมูลรถ 10 ล้อดูดโคลน และรถขยะอัดท้าย ในพื้นที่ 7 จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สระบุรี ตาก ตรัง สงขลา มูลค่าความเสียหายกว่า 140 ล้านบาท การตรวจค้นพบหลักฐานเพียงพอให้เอาผิดเจ้าหน้าที่และบริษัทที่ร่วมฮั้วประมูลรวม 21 คดี

ย้อนรอยทุจริต "ฮั้วประมูลรถดูดโคลน"

พฤติการณ์กลุ่มนี้ พบการล็อกสเป็กในสัญญาการจัดซื้อ หรือ tor ที่กำหนดคุณสมบัติให้บริษัทผู้ประมูลต้องมี มอก. 9001 และ ISO14001 ซึ่งมีเพียง 4 บริษัท ทุกอย่างเหมือนถูกต้องตามขั้นตอน แต่หากลงลึกจะพบว่าทั้ง 4 บริษัทเป็นนอมินีของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่เพียงรายเดียว

ย้อนรอยทุจริต "ฮั้วประมูลรถดูดโคลน"

บริษัทชัยมนัสบอดี้ จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2536 ดำเนินธุรกิจผลิตและประกอบรถบรรทุกประเภทต่างๆ มีกรรมการผู้ก่อตั้ง 7 คน ทั้งหมดล้วนเป็นเครือญาติกัน ปี 2543 – 2556 มีกรรมการ บ.ชัยมนัส บางส่วนลาออก และมีชื่อเปิดบริษัทใหม่ 4 บริษัท คือ บ.แกรนด์ทรัค ฯ  บ.ฤทธิกร ฯ บ.คอสโม ฯ และ บ.เมกา ฯ หุ้นส่วนทุกคนล้วนนามสกุลเดียวกัน และทุกบริษัทจะปรากฏชื่อเป็นผู้ยื่นซองประมูลในโครงการเดียวกันทุกโครงการ

ยิ่งตรวจสอบยิ่งพบ...

บริษัทชัยมนัสฯ มีชื่อเป็นผู้ได้รับการประมูลโครงการจัดซื้อรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้าย ให้กับ อปท. ทั่วประเทศ ระหว่างปี 2555-2559 รวมแล้วเกือบ 1,000 แห่ง มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ก่อนจะตรวจพบอีกกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างตรวจสอบทุจริตในพื้นที่ 11 อปท. 10 จังหวัด และการสืบสวนยังทำให้เชื่อได้ว่า อาจมีอีกหลายโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เข้าข่ายทุจริตฮั้วประมูลไม่ต่างกัน

related