svasdssvasds

เอกชนพร้อม! ประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เอกชนพร้อม! ประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

แม้ว่าร่างทีโออาร์ หรือข้อกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เอกชนทั้งในและต่างประเทศ ประกาศความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลหลายราย ซึ่งล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ

การแถลงข่าวครั้งล่าสุดของกลุ่ม ช.การช่าง ภายใต้การบริหารของตระกูลตรีวิศเวทย์ ประกาศชัดว่า พร้อมเข้าร่วมการประมูลแบบ เพราะมีศักยภาพเพียงพอ เนื่องจากบริษัทลูกคือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ทำธุรกิจ บริหารเดินรถไฟฟ้าอยู่แล้ว

แม้จะมีประสบการณ์และความชำนาญมากพอที่จะทำเองได้ แต่ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงระดับแสนล้านบาททำให้ ช.การช่าง ต้องเปิดโอกาสและมองหาพันธมิตร ซึ่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ช.การช่าง ระบุว่าได้มีการพูดคุยเจรจาบ้างแล้วแต่ยังเปิดเผยไม่ได้

 

อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้ามายาวนานอย่าง บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ แสดงท่าทีชัดเจนว่า สนใจลงทุนในระบบรางทุกโครงการ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนที่ระบุได้แล้วก็มี 2 ราย คือ ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู ในนามของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ โดยประธานกรรมการบริหาร บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เชื่อมั่นว่าการรวมตัวของทุนจะเข้าร่วมประมูลได้ โดยไม่ต้องหาพันธมิตรต่างชาติ

 

ส่วน ปตท. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของประเทศ ออกมายืนยันว่า คณะกรรมการบริษัท มอบหมายให้ 2 บริษัท คือ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมซื้อซองประมูลเพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและมองโอกาสในการศึกษาห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า เช่น การผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ อีวี รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับเทคโนโลยีของโลกและความต้องการของประชาชนในประเทศที่เปลี่ยนไป

ด้านนักลงทุนต่างชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น ต่างก็สนใจสอบถามข้อมูลเชิงเทคนิคเข้ามาหลายรายเช่นกัน โดยการแข่งขันประกวดราคาโครงการมูลค่า 2 แสนล้านบาทครั้งนี้ แม้จะมีเพียงกรอบเวลาคร่าวๆ ว่าทีโออาร์จะคลอดในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่เงื่อนไขหนึ่งที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากกรอบการลงทุนภาครัฐ คือสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ตามกฎหมายให้ไม่เกิน 49 : 51 และต้องรอ พ.ร.บ.อีอีซี บังคับใช้ เพื่อจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนได้อย่างชัดเจน

related