svasdssvasds

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

ท่ามกลางปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ เราจะเห็นชายต่างชาติคนหนึ่งที่พยายามช่วยลดการปล่อยควันพิษด้วยพละกำลังของตนเอง ด้วยการเดินทางด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในใจกลางกรุงเทพฯ ชายคนนี้ก็คือ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย อะไรคือแรงบันดาลใจที่ท่านเลือกใช้การคมนาคมเช่นนี้

อาจเป็นภาพที่แปลกตาสำหรับใครหลายคน ที่เห็นชายชาวต่างชาติแต่งกายด้วยชุดสูท ผูกเนคไท ใส่หมวกกันน็อค สัญจรด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดและอากาศร้อนจัดของกรุงเทพมหานคร

ชายคนนี้คือ ท่านทูตเกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ซึ่งท่านทูตชมิดท์บอกว่า แม้จะเป็นถึงเอกออัครราชทูต แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถคันใหญ่เสมอไป ถ้ามีตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลายและสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

ท่านทูตเกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย

(H.E. Georg Schmidt, Ambassador to Thailand)


อะไรคือแรงบันดาลใจให้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ?

ทุกคนพูดถึงเรื่องมลพิษทางอากาศ ทุกคนบ่นเรื่องนี้ มลพิษทางอากาศเป็นประชาธิปไตยมากเลยครับเพราะทุกคนต้องสูดหายใจอากาศนี้เหมือนๆ กัน แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าหากเรามาดูการเดินทางของเราในแต่ละวัน ก็จะมีการเดินทางระยะไกล ระยะกลาง ระยะใกล้ และสำหรับการเดินทางระยะใกล้ การใช้สกู๊ตเตอร์ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะคุณสามารถพับมันได้ นำขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินได้ คุณชาร์จไฟมันตอนกลางคืน ก็จะสามารรถใช้เดินทางได้ราว 25 กิโลเมตร และมันเป็นการส่งสัญญาณด้วยว่า คุณเป็นเอกอัครราชทูตได้ แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถยนต์คันใหญ่ตลอดเวลา นั่นไม่ได้หมายความว่าผมต่อต้านการใช้รถยนต์ รถยนต์ก็มีหน้าที่ของมัน แต่แนวคิดของเราคือการสัญจรอย่างชาญฉลาด เราดูที่ระยะทาง แล้วดูว่าการเดินทางด้วยวิธีไหนเหมาะสม

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

การเดินทางด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในกทม. ปลอดภัยหรือไม่ ?

ไม่ง่ายเลยครับ ผมต้องระมัดระวังมากๆ บางครั้งผมใช้บนทางเท้า บางครั้งบนท้องถนน ซึ่งยากมาก ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทางการของกรุงเทพฯ น่าจะช่วยทำให้มันง่ายขึ้นสำหรับประชาชนในการใช้วิธีการเดินทางที่หลากหลาย ผมเชื่อว่าผู้คนจะลองเดินทางแบบนี้แน่นอน ถ้ามีเลนบนถนนที่กว้างขึ้นสำหรับจักรยาน อย่างเช่นที่ถนนสาทร มีเลนจักรยานที่กว้างเท่านี้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้ ซึ่งมันยากมากเลย และแน่นอนว่าผมต้องขี่สกู๊ตเตอร์อย่างระมัดระวังมาก และก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรในช่วงฤดูฝนด้วย

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเฉพาะระยะทางสั้นๆ ใช่ไหม ?

ใช่ครับ ผมใช้เดินทางในเส้นทางสั้นๆ ผมไม่ได้เดินทางด้วยสกู๊ตเตอร์ตลอด มันจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ อาจจะมี 3-4 วิธีเกี่ยวข้องกัน คุณก็เลยจะเห็นผมใช้รถยนต์สัญจรด้วย แต่แม้ว่าจะเป็นรถยนต์ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะใช้รถที่ใช้น้ำมัน อย่างรถคันนี้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมด อัตราการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และสามารถเดินทางได้ถึง 150 กิโลเมตร ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการเดินทางในกรุงเทพฯ

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

กทม.เผชิญวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก และยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ในฐานะที่เป็นทูตจากเยอรมนี ประเทศที่ดูแลสิ่งแวดล้อม อยากจะแนะนำอะไรหรือไม่ ?

กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรราว 10 ล้านคน ในขณะที่เมืองใหญสุดของเรา เมืองหลวงมีประชากรแค่ 3 ล้านคน ความท้าทายของกรุงเทพฯ มีมากกว่าเยอะ ผมคิดว่าที่นี่ก็มีการทำอะไรไปมากแล้ว เช่น ระบบขนส่งมวลชน สิ่งเราทำได้คือการช่วยให้คำแนะนำว่าวิธีไหนได้ผล วิธีไหรไม่ได้ผล และผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกรัฐบาลในการประสานผลประโยชน์ทุกภาคส่วนให้สมดุล เพราะเรื่องนี้สำหรับเยอรมนีก็ไม่ได้ง่าย เช่น ผู้คนอย่างบริษัทเล็กๆ ก็จะบอกว่าเราต้องใช้รถยนต์เพื่อส่งสินค้าและบริการ มันคือการสร้างสมดุลในผลประโยชน์ของแต่ละส่วน แต่เมื่อผมพูดถึงการเคลื่อนไหวอย่างชาญฉลาด แนวคิดนี้คือการเคลื่อนไหว เช่น ย้ายจาก A ไป B

ผมสามารถยกตัวอย่างที่กรุงเบอร์ลิน ประชาชนราว 40% สัญจรด้วยจักรยาน นี่อาจจะเป็นไปไม่ได้ในกรุงเทพฯ และที่เยอรมนีคนจำนวนมากไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์แล้ว แต่พวกเขาอยู่ในระบบการใช้รถร่วมกัน (car sharing) พวกเขาใช้รถเมื่ออยากใช้ การจอดรถก็ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรายังส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถด้วยกัน มีผู้โดยสารหลายคนในรถหนึ่งคัน มีหลายอย่างที่แต่ละคนสามารถทำได้ แต่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และการจราจรไม่ใช่ต้นเหตุเดียวของมลพิษทางอากาศ ยังมีการเผาไหม้ด้วย แต่เราต้องคิดนอกกรอบ

ผมจะยกอีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น เรือที่สัญจรตามคลองและแม่น้ำ มันน่าจะดีถ้าเรือทุกลำขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียงและมลพิษ ซึ่งมันเป็นไปได้ที่จะทำ

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

คิดอย่างไรกับการแบนรถยนต์ดีเซล ?

ผมคิดว่าการแบนอะไรสักอย่างจะไม่ประสบความสำเร็จ หากคุณไม่มีทางเลือกอื่นให้ประชาชนก่อน อย่างที่กรุงเทพฯ คุณจะแบนสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร หากคุณยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เพียงพอ การแบนดีเซลก็เป็นเรื่องอื้อฉาวในเยอรมนี เพราะด้านหนึ่งเป็นผลประโยชน์ของผู้ที่จ่ายเงินซื้อรถดีเซลไปแล้ว คนขายก็ต้องส่งมอบสินค้า ในอีกด้านก็มีคนที่พักอาศัยใกล้ถนนที่บอกว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ในเยอรมนีมันควรจะเป็นการตัดสินใจทางการเมือง แต่ในบางครั้งก็ต้องให้ศาลตัดสิน แต่การเมืองก็คือการตัดสินใจในตัวเลือกยากๆ

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

แล้วการมีส่วนร่วมของคนเยอรมันเป็นอย่างไร ?

ผมคิดว่าคนเยอรมันมีความรู้สึกมากว่าต้องทำอะไรที่ดี ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าลงมาดูที่ปัจเจกบุคคล มันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น มันต้องใช้เวลา และต้องเริ่มที่ Mentality เช่น คุณเป็นคนที่ประสบความเร็วในชีวิตได้ โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของรถยนต์

เมื่อพูดถึงความเป็นเจ้าของรถยนต์ มันเคยเป็นความฝันของผู้คน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ในเบอร์ลินตอนนี้ ถ้าคุณถามพวกเขาว่ามีรถอะไร เขาจะถามคุณกลับว่า วันไหนล่ะ วันจันทร์ อังคาร พุธ หรือ ศุกร์ เสาร์ เพราะพวกเขาเป็นสมาชิกการใช้รถร่วม วันจันทร์คุณอาจจะใช้รถแวนเพื่อขนของจากที่ A ไปที่ B

วันวาเลนไทน์พวกเขาอาจจะอยากพาคนรักไปเดทด้วยรถสปอร์ตเท่ห์ๆ จะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ สำหรับบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน คุณอาจมองว่านี่คือสถานการณ์อันตราย คนไม่ซื้อรถแล้ว แต่บริษัทเหล่านี้ก็เปลี่ยนนโยบายไปพัฒนาเรื่องของความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายมากขึ้น

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

ดูเหมือนจะเป็นการพัฒนาทั้งระบบสำหรับเยอรมนี ?

การพัฒนาจำเป็นต้องทำทั้งระบบ นี่เราพูดกันแค่เรื่องการจราจร แต่การปล่อยมลพิษก็มาจากเครื่องปรับอากาศด้วย ทุกคนก็อยากมีห้องที่แอร์เย็นๆ โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่ร้อน ไทยเองก็เป็นประเทศสำคัญที่ผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออกไปทั่วโลก ซึ่ง 45% ของการปล่อยมลพิษก็มาจากเรื่องนี้ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะให้มีระบบปรับอากาศที่ดีกว่านี้

สิ่งที่รัฐบาลเยอรมนีทำ เราร่วมมือกับทางการไทยในหลายระดับ ทั้งระดับเมือง ภาคเอกชน และชุมชน ซึ่งคุณสามารถตั้งมาตรฐานไว้ และนี่ก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

ยกตัวอย่างสิ่งที่สถานทูตเยอรมนีทำเพื่อส่งเสริมเรื่องดังกล่าวได้ไหม ?

วิธีการล่าสุดของเรา ก็คือการใช้สกู๊ตเตอร์สัญจร แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่เราทำ เราส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของเราใช้ระบบขนส่งมวลชน แล้วเราก็มีรถ BMW ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เรามีสถานีชาร์จไฟที่นี่ด้วย และในพื้นที่ของสถานทูต เรากำลังจะผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง นี่คือตัวอย่างเล็กๆ แต่ผมติดว่าถ้าเราสามารถแสดงให้ผู้เห็นว่า องค์กรเล็กๆ อย่างเช่นสถานทูตเยอรมนีสามารถทำได้ คนอื่นก็สามารถทำตามได้

ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องแยกแยะว่า คุณสามารถมีชีวิตที่สะดวกสบายได้ แต่ก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเราเริ่มที่ตัวเอง ดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่แน่เราอาจจะย้อนไปที่ชีวิตในสมัยก่อน เช่น มันน่าจะดีถ้าคุณนำกล่องอาหารกลางวันมาเอง แทนที่จะใช้กล่องอาหารพลาสติกทุกวัน มันอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ แต่ถ้าคนเล็กๆ ทุกคนเปลี่ยนกิจวัตรบ้างเล็กน้อย และก็ไม่ใช่งานยากเลย เราก็จะสามารถเปลี่ยนโลกได้

ทูตเยอรมนีกับการคมนาคมทางเลือกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไทย

related