svasdssvasds

552 นักกฎหมาย แถลงการณ์คัดค้านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

552 นักกฎหมาย แถลงการณ์คัดค้านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

552 นักกฎหมายรวมตัว แถลงการณ์ค้าน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ อาจกลายเป็น "รัฐประหารจำแลง" พร้อมร้องปล่อยตัวมวลชนที่ถูกจับกุม

552 นักกฎหมาย แถลงการณ์คัดค้านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

กลุ่มนักกฎหมายร่วมกันแถลงการณ์ของนักกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยระบุว่า ตามที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประเทศเป็นอารยะมากขึ้น และรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครภายหลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

 จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ดังกล่าว รัฐบาลออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และข้อห้ามอื่นๆ อีกหลายประการ ส่งผลให้เมื่อมีการชุมนุมอีกในคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย และถูกจับกุมจำนวนมาก

 บุคคลผู้มีรายนามข้างท้ายนี้มีความเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลในกรณีดังกล่าวขาดความชอบธรรมและไม่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จึงขอแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1. ถึงแม้ว่าระบบกฎหมายจะยอมให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นสภาวะวิกฤติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที แต่ก็มิได้หมายความว่าระบบกฎหมายจะอนุญาตให้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามอำเภอใจ หรืออนุญาต ให้ขยายเหตุที่ไม่มีความร้ายแรงเพียงพอให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการได้มาซึ่งอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน

จนทำให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกลายเป็น “รัฐประหารจำแลง” การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการเดินทางเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

2. แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลในการให้เหตุผล หรือเชื่อมโยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงกับเหตุการณ์รถพระที่นั่งของพระราชินีเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กรณีย่อมเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามขยายเหตุการณ์ดังกล่าวไปในทางที่เป็นผลร้ายเกินกว่าที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงมาก ถึงขนาดมีการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมบางคนในฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และแจ้งข้อหานี้เพิ่มเติมกับผู้ชุมนุมในบริเวณดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ด้วย มาตรา 110 เป็นกฎหมายอาญาที่มีโทษรุนแรงมากถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

ฉะนั้น การตั้งข้อหานี้กับบุคคลใด เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังมิให้มีลักษณะของการตีความตัวบทแบบขยายความจนพ้นความหมายตามธรรมดาของถ้อยคำ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการใช้และการตีความกฎหมายตามอำเภอใจซึ่งถือเป็นการบิดเบือนกฎหมาย และอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นการตั้งข้อหาในลักษณะของการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่ถูกต้องแล้ว

3. เมื่อปรากฏว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียแล้ว การที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามมิให้มีการชุมนุม จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามไปด้วย

ทั้งนี้ โดยอาศัยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ผู้มีรายนามในแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องให้

1. ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ทันที โดยไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัว

2. ถอนข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110

3. เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้โดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครอง และเป็นหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อ่านรายชื่อทั้งหมดที่นี่

related