svasdssvasds

"ประชาชน" เชื่อการลงพื้นที่ของ "นายกฯ" เป็นการหาเสียง

"ประชาชน" เชื่อการลงพื้นที่ของ "นายกฯ" เป็นการหาเสียง

"นิด้าโพล" เผย ประชาชน เชื่อการลงพื้นที่ของนายกฯ เป็นการหาเสียง มองไทยนิยม-ประชานิยม ไม่ต่างกัน

วันนี้( 1 เม.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ไทยนิยม ยั่งยืน VS ประชานิยม” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และ ประชานิยม การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้หรือได้ยินข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.04 ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน/ไม่รู้จัก รองลงมาร้อยละ 32.24 ระบุว่า รู้จัก โครงการไทยนิยม ยั่งยืน และร้อยละ 26.72 ระบุว่า เคยได้ยินชื่อโครงการ แต่ไม่รู้ว่าทำเกี่ยวกับอะไร

ด้านความคาดหวังของประชาชนต่อสิ่งที่จะได้รับจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.08 ระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงอย่างยั่งยืน รองลงมา ร้อยละ 33.44 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไรกับโครงการนี้ ร้อยละ 11.44 ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียมตามความต้องการของประชาชน ร้อยละ 9.20 ระบุว่า ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

"ประชาชน" เชื่อการลงพื้นที่ของ "นายกฯ" เป็นการหาเสียง

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากปัญหาความยากจนได้หรือไม่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 54.16 ระบุว่า สามารถแก้ไขได้ เพราะ เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลว่าจะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และจะนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนให้พ้นจากความยากจนได้ รองลงมา ร้อยละ 42.16 ระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงจุด แก้ได้เฉพาะคนกลุ่มน้อย ไม่สามารถแก้ไขในระยะยาวได้ อีกทั้งงบประมาณที่ได้ไม่ถึงประชาชน มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยที่ผ่านมายังไม่สามารถทำได้จริง ไม่เห็นเป็นรูปธรรม และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่าง “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” กับ “นโยบายประชานิยม”พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.96 ระบุว่า ไม่แตกต่าง เพราะ เป็นโครงการที่มีลักษณะและวิธีการแก้ไขปัญหาคล้ายคลึงกัน คือทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเปลี่ยนจากนโยบายเป็นโครงการเท่านั้น ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้าทั้ง 2 โครงการ และไม่สามารถช่วยเหลือในระยะยาวได้จริง รองลงมา ร้อยละ 43.44 ระบุว่า แตกต่าง เพราะ การบริหารงานและรายละเอียดของโครงการแตกต่างกัน โดยนโยบายประชานิยมเป็นการให้ความหวังกับประชาชน ดูฉาบฉวยและเกิดประโยชน์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนชนได้จริง เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และร้อยละ 7.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงพื้นที่พบปะประชาชนของนายก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ปี 2562 หรือไม่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.48 ระบุว่า เป็นการหาเสียง เพราะ โครงการนี้เป็นนโยบายการหาเสียงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับนักการเมืองที่มีการลงพื้นที่บ่อย เป็นการพบปะประชาชนช่วงใกล้เลือกตั้งเพื่อหวังคะแนนนิยมจากประชาชน และลงพื้นที่บ่อยเกินไป รองลงมา ร้อยละ 42.32 ระบุว่า ไม่เป็นการหาเสียง เพราะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว โดยมองว่ารัฐบาลทำเพื่อประชาชนจริงๆ อยากพบปะใกล้ชิดกับประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่ลงเล่นการเมืองอย่างแน่นอน และร้อยละ 7.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.28 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.80 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.72 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.28 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 54.08 เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.76 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.08 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 15.52 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.76 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.68 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 20.56 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 89.92 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.84 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.96 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 5.28 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 18.48 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 70.80 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.28 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 5.44 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.72 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.96 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.80 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.40 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.00 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.28 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชนร้อยละ 18.80 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.56 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.52 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.56 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.40 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 6.80 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 12.88 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 20.16 ไม่ระบุรายได้

"ประชาชน" เชื่อการลงพื้นที่ของ "นายกฯ" เป็นการหาเสียง

related