svasdssvasds

อาการป่วย พล.ต.อ.วสิษฐ ยังคงที่

อาการป่วย พล.ต.อ.วสิษฐ ยังคงที่

แพทย์ใหญ่เผยอาการ 'พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร' ยังคงที่หลังนอนรักษาตัว โรงพยาบาลตำรวจ

วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์ โทรศัพท์สอบถามไปยัง พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ถึงอาการป่วยของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ  โดยพล.ต.ท.วิฑูรย์ กล่าวว่าขณะนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ ยังคงนอนรักษาตัวในห้องผู้ป่วยพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจ โดยทางโรงพยาบาลยังห้ามเยี่ยมเนื่องจากเกรงจะเป็นการรบกวนผู้ป่วย เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนพยายามปล่อยข่าวลือไม่เป็นมงคล เกี่ยวกับอาการป่วยของ พล.ต.อ.วสิษฐ  จนทางแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจต้องออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชน ไปแล้วครั้งหนึ่ง

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ถือได้ว่าอดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ไว้วางพระราชหฤทัย จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ก่อนที่จะออกมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งในขณะนั้นมียศ พันตำรวจเอก (พ.ต.อ.) ดำรงตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำ มีบทบาทในการดูแลความสงบบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ รวมถึงบริเวณพระราชวังดุสิตด้วย โดยเป็นผู้ติดต่อและเจรจากับทางฝ่ายผู้ชุมนุมและเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่านให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง ในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะสลายตัวไป แต่จากอุปสรรคทางการสื่อสารประกอบกับมีมวลชนเป็นจำนวนมาก ผู้นำชุมนุมจึงไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด จึงเกิดเหตุนองเลือดในเวลาต่อมาหลังจากนี้

อาการป่วย พล.ต.อ.วสิษฐ ยังคงที่

นอกจากนี้พล.ต.อ.วสิษฐ ยังได้รับยกย่องว่าเป็นตำรวจตงฉินแห่งกรมตำรวจไทย ยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์ และไม่ใช่เพียงแค่ฝีมือด้านการปราบปรามอาชญากรรม เท่านั้น พล.ต.อ.วิสิษฐ ยังเป็นนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจ และอาชญากรรม โดยนำมาจากประสบการณ์จริง จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2541

ผลงานเขียนของ "วสิษฐ เดชกุญชร" ที่มีชื่อเสียง เป็นนิยายที่เขียนจากประสบการณ์ในราชการตำรวจ มีตัวเอกเป็นตำรวจที่มีอุดมการณ์ เขียนโดยใช้ชื่อจริง และเคยใช้นามปากกา "'โก้ บางกอก" นิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะนวนิยายชุดองค์กรลับต่อต้านผู้ก่อการร้าย ที่มีตัวเอกชื่อ "ธนุส นิราลัย" กับ "ลำเพา สายสัทกุล" (สารวัตรเถื่อน, แม่ลาวเลือด, หักลิ้นช้าง, อวสานสายลับ, บ่วงบาศ, ประกาศิตอสูร) ดงเย็น, จันทน์หอม, ลว.สุดท้าย, สารวัตรเถื่อน, แม่ลาวเลือด, หักลิ้นช้าง, อวสานสายลับ, บ่วงบาศ, ประกาศิตอสูร, สารวัตรใหญ่, สันติบาล, เลือดเข้าตา, เบี้ยล่าง, พรมแดน

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เกิดเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2472 ปัจจุบันอายุ 88 ปี ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุดรธานี บิดามารดามีอาชีพเป็นครู จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น "โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน" เมื่อปี 2487 สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร รุ่น ลมหวล ศึกษาต่อรัฐศาสตรบัณฑิต ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้าศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา จบหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศ จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 23) สมรสกับคุณหญิงทัศนา (บุนนาค) เดชกุญชร เมื่อปี 2500 มีบุตร 2 คน คือ ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุทรรศน์ เดชกุญชร และ ร.ต.ต.หญิงปรีณาภา เดชกุญชร มีหลาน 3 คน ได้แก่ น.ส.ปัญจรัตน์ เดชกุญชร ,จ่าเอก ชิษณุวัฒน์ เดชกุญชร และ น.ส.ณัฐพร เดชกุญชร

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2495 ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมประมวลราชการแผ่นดิน (ต่อมาคือกรมประมวลข่าวกลาง) แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี 2513 เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2516 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี 2532 และในปี 2539[-2543 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2533 ถึง 9 ธันวาคม 2533 ตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจก่อนลาออกไปเป็นรัฐมนตรีเป็น รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ

 

       

 

related