svasdssvasds

อย่าชะล่าใจ! "พิษสุนัขบ้า" ปีนี้ตายแล้ว 11 ราย

อย่าชะล่าใจ! "พิษสุนัขบ้า" ปีนี้ตายแล้ว 11 ราย

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนอย่าชะล่าใจ เมื่อถูกสุนัข แมวกัด ข่วน ขอให้เข้ารับการรักษา แม้มีแผลเพียงเล็กน้อย เผยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ชะล่าใจเมื่อถูกสัตว์เลี้ยงกัด ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย ในจังหวัดกาฬสินธุ์

วันนี้ (17 มิถุนายน 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ามีผู้เสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่ม 1 ราย จากรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชาย อายุ 42 ปี ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนกัดเมื่อ 6-8 เดือนก่อน โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด ทำให้ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตปีนี้รวม 11 ราย หน่วยงานของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่แล้ว อาทิ การสื่อสารความเสี่ยงแก่กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ตายและประชาชนที่มีสัตว์เลี้ยงในละแวกใกล้เคียง เร่งค้นหาผู้สัมผัสโรคให้มารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงประสานปศุสัตว์อำเภอจัดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ อีกทั้งได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) ของอำเภอ เตรียมพร้อมประชุมอีกครั้ง เพื่อรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์และวางแผนการดำเนินงานต่อไป

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในปี 2561 นี้ พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน แล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อเพราะคิดว่าสัตว์เลี้ยงไม่น่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และขาดความตระหนักเพราะเห็นว่าเป็นรอยแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่าหากท่านเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนแม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ขอให้พบเเพทย์เพื่อรับการพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเทศไทยจะพบมากในสุนัข แมว และโค สัตว์ที่มีเชื้อมักแสดงอาการทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม เช่น นิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม ก้าวร้าวดุร้าย กัดไม่เลือก บางตัวอาจซึมและมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก เดินโซเซ เห่าหอนผิดปกติหรือไม่มีสาเหตุ โดยสุนัขที่แสดงอาการมักจะตายภายใน 10 วัน

related