svasdssvasds

นักอาชญาวิทยา ชี้ สังคมไม่ควรมาโต้เถียงกัน "โทษประหาร" ถือเป็นบทเรียนทางสังคม

นักอาชญาวิทยา ชี้ สังคมไม่ควรมาโต้เถียงกัน "โทษประหาร" ถือเป็นบทเรียนทางสังคม

ประเด็น"โทษประหาร" สังคมควรหันกลับมองตัวเองเป็นหลัก ไม่ควรออกมาโต้แย้งกันไปมา ต้องถือเป็นบทเรียนและหาทางแก้ไขปัญหาหาทางออกร่วมกัน

ผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้สังคมกำลังให้ความสนใจกับประเด็นโทษการประหารชีวิต ถือเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมที่มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างกัน กับโทษการประหารชีวิต แม้แต่ในครอบครัวก็ยังมีความเห็นที่ต่างกัน ความเห็นต่างนั้นจะต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล ต้องใช้ปัญญา และต้องหาทางออกด้วย ที่ผ่านมากระแสในสังคมมักจะเกิดขึ้นจะพูดกันมาก จากนั้นก็จะค่อยๆหายไป ประเด็นนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ คนก็จะไปสนใจเรื่องอื่นต่อ แต่การประเด็นที่พูดกันเราควรมองไปที่มาตรการต่างๆ ด้วย เช่น บทลงโทษ การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก แก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก หรือแก้ไขปัญหาคนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปที่จะก่ออาชญากรรม ประเด็นเหล่านี้ที่ต่างประเทศและเราต้องให้ความสำคัญ

ฉะนั้นเราจึงมองได้ว่าทำไม ? ประเทศไทยยังคงต้องคงโทษประหารชีวิตไว้ เพื่ออะไร ? ในขณะเดียวกันทำไม? ต้องรณรงค์ ให้ยกเลิกการประหารชีวิต ก็เพราะเขายังไม่เข้าใจในบริบทเหล่านั้นของไทย โดยเฉพาะในมุมมองของอาชญาวิทยา ว่าเราต้องมองในมุมลึกๆของสาเหตุ ว่าคนๆนี้ที่ก่ออาชญากรรมมีจิตใจที่โหดร้าย ผิดมนุษย์ ที่ไปแทงเหยื่อหลายแผล ซึ่งการมองจะต้องมองไปที่สภาพแวดล้อม ชุมชน สังคม การศึกษา ครอบครัว ว่าทำไมหล่อหลอมให้คนๆนี้เป็นคนจิตใจอย่างนั้น

ดังนั้น ในทางอาชญาวิทยา การลงโทษ ไม่ใช่ "ฆ่าคนตาย แล้วต้องทำให้คนๆนั้นตาย" แต่เราต้องมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และต้องป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการทางกฎหมาย ที่รวดเร็ว โปร่งใส มีความเป็นธรรม เหล่านี้จะส่งผลให้ปัญหาการก่ออาชญากรรมลดลง สิ่งนี้มีงานวิจัยรองรับ หลายประเทศเห็นตรงกันว่าจะทำให้ปัญหาการก่ออาชญากรรมลดลง มีตัวเลขที่น่าสนใจ ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เปรียบเทียบกัน ญี่ปุ่นมีโทษประหารชีวิตเหมือนกัน ไทยมีประชากร 66-67 ล้านคน ของญี่ปุ่นมีประชากร 126 ล้านคน สัดส่วนตำรวจไม่แตกต่างกัน แต่ประเทศญี่ปุ่น คดีอุกฉกรรจ์ พยายามฆ่า เกิดน้อยกว่าประเทศไทย เกือบ 5 เท่า แสดงว่าว่าปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีคดีเหล่านี้น้อยกว่า ไทย และสะท้อนว่าการมีโทษประหารชีวิตเหมือนกันทั้งสองประเทศ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะให้คนเกรงกลัว แต่สิ่งสำคัญคือมาตรการอื่นๆที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คดีอุกฉกรรจ์น้อยลง ไม่ใช่ว่าเกิดเหตุแบบนี้ค่อยมาพูดกันทีหนึ่ง

ไม่ใช่ให้ความเห็นเพราะความสะใจ แต่ต้องหาทางแก้ไข ด้วยการใช้ปัญญา......

นักอาชญาวิทยา ชี้ สังคมไม่ควรมาโต้เถียงกัน "โทษประหาร" ถือเป็นบทเรียนทางสังคม

ผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ บอกอีกว่า ผมมีข้อเสนอ การแก้ไขปัญหา เราต้องลงทุนการฟื้นฟูพฤติกรรมผู้กระทำความผิด ต้องลงทุนสร้างคนที่มีคุณภาพ งบต่างๆที่ลงไปตามกระทรวงต่างๆ เช่น พม. สตช. กรมคุมประพฤติ ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงคมนาคม แตกต่างกับต่างประเทศที่ลงทุนด้านบุคคลค่อนข้างสูง

พร้อมฝากทิ้งท้ายกับกระแสที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ "โทษประหารชีวิต" ว่าสังคมไทยเราต้องเรียนรู้ปัญหาไปด้วยกัน ต้องแก้ไขปัญหาด้วยปัญญามากขึ้น ศึกษาบทเรียนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสังคม ว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงก่อเหตุ สาหตุ การแก้ไข การป้องกัน สังคมไม่ควรมาโต้เถียงกัน ว่าควรมี-หรือไม่ควรมี เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นสังคมต้องมีการขัดเกลาให้มาก โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด  ผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ กล่าว 

related