svasdssvasds

จับตา! หวัดนกต่อเนื่อง หลังประเทศเพื่อนบ้าน เร่งกำจัดสัตว์ปีกหลายหมื่นตัว

จับตา! หวัดนกต่อเนื่อง หลังประเทศเพื่อนบ้าน เร่งกำจัดสัตว์ปีกหลายหมื่นตัว

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเข้มข้นและต่อเนื่องใน 3 ระดับ ยืนยันไม่มีผู้ป่วยในไทย แนะประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

(3 สิงหาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคยังเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องทั้งในและนอกประเทศ ทุกด่าน ทุกช่องทาง ล่าสุดมีรายงานข่าวประเทศเพื่อนบ้านมีการกำจัดสัตว์ปีกหลายหมื่นตัว เนื่องจากพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าว

สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีรายงานพบเหตุการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนประเทศไทยผู้ป่วยรายสุดท้ายที่มีรายงานคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก จากอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกในหลายพื้นที่ อาจพบสัตว์ปีกป่วยตายได้ ประกอบการการรับเชื้อผ่านผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือจากนกอพยพ และ การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น ยังมีการสั่งการให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องใน 3 ระดับ คือ

ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ โรงพยาบาล และชุมชน

โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จะมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน เช่น กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพของคนไทย

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรป้องกันการรับเชื้อจากโรคต่างๆ โดยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งนกธรรมชาติ ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (มีไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอ) ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับจากพื้นที่หรือสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วยตาย ควรสวมหน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

related