svasdssvasds

กรมอนามัย คุมเข้ม! ช่องทางออนไลน์ห้ามโฆษณานมผง

กรมอนามัย คุมเข้ม! ช่องทางออนไลน์ห้ามโฆษณานมผง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คุมเข้ม การขายนมผงผ่านช่องทางออนไลน์ ห้ามโฆษณา ลดแลก แจก แถม สามารถแสดงรูปสินค้า และราคาได้เท่านั้น

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมห้างหุ้นส่วนจำกัด ซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ว่า กรมอนามัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ผลักดันพระพระราชบัญญัติควบคุม การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ให้มีผลบังคับใช้ โดยมีเป้าหมายและเจตนารมณ์สำคัญคือ เพื่อปกป้องผู้บริโภคโดยเฉพาะแม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ผ่านการควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้กรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบมาโดยตลอด จากตรวจเยี่ยมห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในหลายจังหวัด พบว่าห้างสรรพสินค้า และร้านค้า ได้มีการปรับตัวและปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม การขายนมผงในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเพียงเท่านั้น แต่มีบริการทางช่องทางออนไลน์อย่างแพร่หลาย ถือเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และกรมอนามัยจำเป็นต้องติดตามและคุมเข้มช่องทางการขายออนไลน์อย่างต่อเนื่องด้วย เพราะถึงแม้ว่าการขายนมผงในช่องทางดังกล่าว จะไม่มีหน้าร้าน แต่เจ้าของสินค้าหรือผู้ขายก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด

“ร้านค้าและช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ สามารถจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กได้ตามปกติ แต่ผู้ประกอบการมีข้อควรระวังที่สำคัญ คือ การจำหน่ายต้องไม่มีการโฆษณาและส่งเสริมการตลาด หมายความว่า

-สามารถแสดงรูปสินค้าและราคาได้เท่านั้น

-ห้ามแสดงวิธีการใด ๆ ที่ทำให้ทราบว่ามีการลดราคาจากราคาปกติ เช่น การแสดงป้ายราคาเดิมคู่กับราคาใหม่ หรือการแสดงสัดส่วนร้อยละของราคาที่ถูกลง

-ห้ามมีกิจกรรมใดๆที่เป็นการให้สิทธิที่จะได้รับส่วนลด การขายพ่วง การแลกเปลี่ยนหรือให้ของรางวัลของขวัญอื่นๆ

-ห้ามมีข้อความใดๆที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

-ห้ามการแจกตัวอย่างอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

หากพบเรื่องการกระทำผิดสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมอนามัย 02 590 4000 หรือ 02 590 4437

 

related