svasdssvasds

"ข้าวหมาก" ไม่ใช่ "สาโท" นักโภชนาการชี้ ช่วยย่อยอาหาร

"ข้าวหมาก" ไม่ใช่ "สาโท" นักโภชนาการชี้ ช่วยย่อยอาหาร

ก่อนหน้านี้มีข่าวเจ้าหน้าที่สรรพาสามิตจับ ยายวัย 60 ปี ชาวบุรีรัมย์ ที่ขายข้าวหมากห่อละ 5 บาท ด้วยข้อหาจำหน่ายสุราสาโท โดยไม่ได้ขออนุญาต มีค่าปรับถึง 50,000 บาท ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า “ข้าวหมาก” ถูกรวมอยู่ใน “กลุ่มสุรา” ตามกฎหมาย ที่จะต้องขอใบอนุญาตเพื่อจำหน่ายด้วยหรือไม่ ?

สุรา สุรากลั่น สุราแช่(สาโท) ต่างกัน ?

หากลองย้อนไปดู พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 2 เรื่อง ใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุรา ยาสูบ และไพ่ ได้ระบุชัดถึงนิยามของคำว่า "สุรา" ว่าให้หมายความรวมถึงวัตถุทั้งหลาย หรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี

ส่วน "สุราแช่" หมายความว่า สุราที่ไม่ได้กลั่น และให้หมายความรวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี ขณะที่ "สุรากลั่น" หมายความว่า สุราที่ได้กลั่นแล้ว และให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรีด้วย

 

หากวิเคราะห์จาก นิยามของความหมายใน พ.ร.บ.สุรา

นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวมองว่า "ข้าวหมาก" ไม่น่าจะนับรวมว่าเป็น "สาโท" เพราะข้าวหมากเป็นอาหารพื้นบ้าน คนไม่ได้กินข้าวหมากแล้วเมาจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ซึ่งตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ก็มีการระบุถึงนิยามของสุราที่จะต้องขออนุญาต คือ ต้องมีแอลกอฮอล์เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าข้าวหมากนั้นมีแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ เพราะสูตรแต่ละสูตรไม่เหมือนกัน ทำให้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในข้าวหมากไม่เท่ากัน การจะมาพูดเรื่องมาตรฐานรวมของข้าวหมากก็น่าจะยาก และถามว่าใครจะมานั่งเอาข้าวหมากมาส่งตรวจแล็บ

ด้าน นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้โพสข้อความถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในเฟสบุคส่วนตัวว่า กรณีของข้าวหมากนั้น จำได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติ 8 ต่อ 6 ให้ถอดแป้งข้าวหมาก ออกจาก พ.ร.บ.สุราฯ

เนื่องจากคำว่าเชื้อสุรา ตามนิยามของความหมายใน มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.สุรา ระบุให้หมายความว่า แป้งเชื้อสุรา แป้งหมัก หรือเชื้อใดๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุ ของเหลวอื่นแล้ว สามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุราได้ก็ตาม แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แป้งข้าวหมักมีลักษณะที่ไม่ใช่เชื้อสุราในตัวเอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น อาหาร ยา ซึ่งหลังจากที่ศาลมีคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว การผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวหมักก็สามารถจำหน่ายนอกพื้นที่ที่ยื่นขออนุญาตไว้ได้

 

เพราะ "ข้าวหมาก" ไม่ใช่ "สาโท"

ด้าน นายสง่า ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในฐานะทำงานด้านโภชนาการ ยืนยันว่า "ข้าวหมาก" ไม่ใช่ "สาโท" แน่นอน เพราะมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่ามาก ซึ่งข้าวหมาก ถือเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหาร โดยจะนำเอาข้าวเหนียวที่เคยหุงไว้กินแล้วกินไม่หมด นำมาล้างให้สะอาดเพื่อเอายางข้าวออก เสร็จแล้วเอาไปผึ่งให้แห้ง แล้วเอามาผสมกับลูกแป้ง ซึ่งก็คือ เชื้อยีสต์ เป็นจุลินทรีย์ที่ไปทำปฏิกิริยากับแป้งในข้าว ซึ่งเมื่อหมักแล้วจะมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีเกิดขึ้น เป็นแบคทีเรียชนิดดีที่เรียกว่า "โปรไบโอติก" โดยจะมีแอลกอฮอล์ปนเล็กน้อย โดยจะหมักไม่ให้เกิน 3 วัน จากนั้นจะนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น เพื่อให้ยีสต์หยุดการเจริญเติบโตหรือหยุดการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล

แต่หากเป็น “สาโท” จะหมักยาวนานกว่านั้น เพื่อให้เกิดแอลกอฮอล์มากขึ้น ดังนั้นปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ในสาโทจึงมากกว่า จึงยืนยันว่าข้าวหมากไม่ใช่สาโท

 

"โปรไบโอติก" จุลินทรีย์ช่วยย่อย

สำหรับประโยชน์ของข้าวหมากที่มีโปรไบโอติกนั้น ตัวจุลินทรีย์จะไปช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ลดท้องผูก รักษาภาวะท้องเสียบางอย่าง และจะเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดการติดเชื้อ และมีงานวิจัยที่พบว่าโปรไบโอติก สามารถช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย ซึ่งอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น ข้าวหมาก นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เทมเป้ หรืออาหารเกาหลี เช่น กิมจิ หรือ ผักดอง

related