svasdssvasds

ข่าวดีคนกลัวเข็ม! "แผ่นแปะฉีดวัคซีนด้วยเข็มขนาดจิ๋ว"

ข่าวดีคนกลัวเข็ม! "แผ่นแปะฉีดวัคซีนด้วยเข็มขนาดจิ๋ว"

อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยพัฒนานวัตกรรมแผ่นแปะฉีดวัคซีน รูปแบบเข็มขนาดจิ๋ว สำหรับกดลงบนผิวหนังต้นทุนการผลิตต่ำ ปลอดภัย ไม่ทำให้เจ็บเวลาฉีดวัคซีน สามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง

ผศ.ดร.วีระยุทธ ศรีธุระวานิช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนานวัตกรรมแผ่นแปะฉีดวัคซีนขนาดจิ๋ว เปิดเผยถึงที่มาของนวัตกรรมดังกล่าวว่า แผ่นแปะฉีดวัคซีนเป็นนวัตกรรมที่มีการผลิต ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นแผ่นแปะเข็มฉีดยาที่ทำมาจากโพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ สำหรับแผ่นแปะฉีดวัคซีนด้วยเข็มขนาดจิ๋วที่อาจารย์พัฒนาขึ้นนั้นได้เริ่มต้นศึกษาวิจัยมา 3 – 4 ปีแล้ว ซึ่งมีข้อดีที่แตกต่างจากแผ่นแปะฉีดวัคซีนของต่างประเทศคือใช้วัสดุที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เนื่องจากทำมาจากสารละลายน้ำตาล สามารถขึ้นรูปในอุณหภูมิต่ำ เช่น อุณหภูมิห้อง น้ำตาลที่ใช้เป็นน้ำตาลมอลโตสที่หาได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถละลายได้เร็ว มีความปลอดภัย และราคาถูก บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องให้แพทย์ พยาบาลเป็นผู้ฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังลดปริมาณของวัคซีนที่ใช้กว่า 30%

“จากการสำรวจพบว่าคนทั่วไปเป็นโรคกลัวเข็มฉีดยา 10 – 20 % โดยเฉพาะในเด็กจะกลัวเข็มฉีดยามากกว่า 50 % แผ่นแปะฉีดวัคซีนที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นแผ่นเข็มขนาดไมครอน จุดเด่นคือเวลาใช้จะไม่เจ็บ เพราะเป็นเข็มขนาดไม่ถึง 1 มิลลิเมตร จึงไม่โดนเส้นประสาทรับความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังใช้งานได้ง่าย เพียงแปะเข้าไป

บริเวณผิวหนังแล้วกดไว้ประมาณ 5 นาที ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศต้องกดค้างไว้นานกว่า 20 นาทีเพื่อให้โพลิเมอร์ละลาย แผ่นแปะฉีดวัคซีนดังกล่าวยังสามารถใช้ได้กับวัคซีนทุกชนิด ปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรโดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาฯ นอกจากแผ่นแปะเข็มขนาดจิ๋วในรูปแบบนี้แล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การฉีดวัคซีนในลักษณะต่างๆ เช่น แบบกลวง แบบเข็ม ฉีดยา เป็นต้น” ผศ.วีระยุทธ กล่าว

ในการต่อยอดผลงานวิจัยนี้ไปสู่การงานในด้านอื่นๆนั้น ผศ.ดร.วีระยุทธ ให้ข้อมูลว่า สามารถนำงานวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ฉีดยาชาสำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อก ก่อนที่แพทย์จะฉีดยารักษาโรคนิ้วล็อก รวมทั้งการพัฒนาตัวนำส่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้อยู่ในรูปแผ่นแปะขนาดจิ๋วเพื่อลดความเจ็บจากการฉีดยา ทั้งนี้ยังได้ร่วมมือทำงานวิจัยในลักษณะสหสาขาวิชากับอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย

“นอกเหนือจากงานวิจัยเรื่องนี้แล้ว ที่ห้องปฏิบัติการภาควิชาวิศวกรรม เครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่เป็นการทำงานวิจัยในระดับไมโครซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ Needle Guide สำหรับนำทางเข็มในการใช้งานกับเครื่องอัลตราซาวด์ ท่อตาขนาดไมครอนเพื่อระบายน้ำในตา สำหรับผู้ที่เป็นโรคต้อหิน เป็นต้น ผศ.ดร.วีระยุทธ กล่าว ทิ้งท้าย

ข่าวดีคนกลัวเข็ม! "แผ่นแปะฉีดวัคซีนด้วยเข็มขนาดจิ๋ว" ข่าวดีคนกลัวเข็ม! "แผ่นแปะฉีดวัคซีนด้วยเข็มขนาดจิ๋ว"

related