svasdssvasds

"บิ๊กฉัตร" ย้ำแก้ พ.ร.บ.ยาตัวใหม่ ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อนายทุน

"บิ๊กฉัตร" ย้ำแก้ พ.ร.บ.ยาตัวใหม่ ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อนายทุน

รองนายกรัฐมนตรี ระบุ พ.ร.บ.ยาตัวใหม่ ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อนายทุน แต่จะมุ่งผลประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นหลัก

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวครบรอบ 1 ปี การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ว่า ที่ผ่านมาติดปัญหาการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพล่าช้า จึงมีคำสั่งคสช.ที่ 77/2559 เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และหลังครบรอบ 1 ปี พบว่า ช่วยลดปัญหาผลิตภัณฑ์ขอขึ้นทะเบียน ที่คั่งค้างกว่า 3 แสน 8 หมื่นรายการได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องการยกร่างพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.ยา ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขนั้น พลเอกฉัตรชัย ยืนยันว่า ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อนายทุน แต่จะมุ่งผลประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นหลัก

สอดคล้องกับนายแพทย์ วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ยา มีคนเห็นด้วยกับเนื้อหา ถึงร้อยละ 90 เหลืออีกร้อยละ 10 ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดย ในพ.ร.บ.ยาฯ ฉบับปัจจุบัน รวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดเจนว่า การเปิดร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะ หรือเป็นชั้นวาง เขียนไว้ชัดว่าต้องมีเภสัชกรเท่านั้น ส่วนร้านที่ไม่มีเภสัชกร เป็นร้านที่เปิดตามกฎหมายเดิมซึ่งไม่มีการอนุญาตเพิ่มแล้ว เพราะฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.ใหม่ จึงไม่มีช่องทางไหนที่จะเอื้อให้เกิดการเปิดร้านโดยไม่มีเภสัชฯเลย

ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาระหว่างวิชาชีพ เพราะพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต้องจ่ายยาตามแพทย์สั่ง เพราะที่ผ่านมาไม่มีเภสัชฯ ทำภายใต้สถานพยาบาล แต่ไม่มีกฎหมายรับรอง เชื่อว่าจะมีทางออกที่ชัดเจนหลังจากนี้ เพราะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพูดคุย ซึ่งอย.ยินดีเป็นตัวกลาง

ด้านนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำว่า ในร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้บอกไว้ว่าวิชาชีพไหน มีหน้าที่จ่ายหรือไม่จ่ายยา เพราะต้องออกกฎกระทรวงก่อน และย้ำว่า การเสนอแก้ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมด ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และรอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และยังต้องผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามลำดับ ซึ่งก็จะมีการให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมได้อีก

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ที่เป็นสาระสำคัญและเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเด็น เช่น การแบ่งประเภทยา ตามร่าง มาตรา 4 ว่าด้วยนิยามไม่เป็นไปตามหลักสากล การตัดเนื้อหาบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรมในการปรุงยาและจ่ายยาตามใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การแบ่งจ่ายยาและการจ่ายยาในมาตรา 22 (4) และ (5) และมาตรา 115 ที่กำหนดให้เภสัชกร สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการด้านยา ได้มากกว่า 1 แห่ง หากเวลาปฏิบัติการไม่ทับซ้อนกัน

"บิ๊กฉัตร" ย้ำแก้ พ.ร.บ.ยาตัวใหม่ ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อนายทุน

related