svasdssvasds

ทั่วโลก มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ เฉลี่ย 1คน ในทุก ๆ 40 วินาที

ทั่วโลก มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ เฉลี่ย 1คน ในทุก ๆ 40 วินาที

วันที่ 10 กันยายนทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ทีมวิชาการได้ประมาณการว่าแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย ประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า วันที่ 10 กันยายนทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World suicide prevention day) ในปีนี้ สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติได้เรียกร้องให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ร่วมมือกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (Working Together to Prevent Suicide ) เนื่องจากเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ โดย

ทั่วโลกมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 800,000 คน เฉลี่ย 1คน ในทุกๆ 40 วินาที มากกว่าตายจากสงครามและถูกฆ่าตายรวมกัน เกือบร้อยละ 80 อยู่ในประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตลงร้อยละ 10 ภายในปีพ.ศ.2563

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทย ทีมวิชาการได้ประมาณการว่าแต่ละปี มีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน กระจายอยู่ทุกชุมชน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน

ในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ประเทศต้องสูญเสียเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท ข่าวการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในจิตใจแต่ละคน โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด

ต้นเหตุที่มักพบได้บ่อยที่สุด "ฆ่าตัวตาย" มาจาก 5 เรื่อง

1.ความสัมพันธ์บุคคล

2.สุรา

3.ยาเสพติด

4.สังคม

5.เศรษฐกิจ

ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงมาจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก

“สภาพวิถีชีวิตของคนไทยขณะนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งจะเริ่มคุ้นเคยกับการดำรงชีวิตแบบเร่งด่วน เร่งรีบ หรือที่เรียกว่าควิก-ควิก(Quick-Quick) ความเคยชินอาจจะมีผลทำให้มีรูปแบบความคิดแบบเร่งรีบอย่างไม่รู้ตัวตามไปด้วย มักจะบอกว่าไม่มีเวลา ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากไตร่ตรอง ไม่มีทางเลือกแล้ว เมื่อเผชิญกับแรงกดดันความเครียดต่างๆ ผู้ที่มีความคิดแบบนี้ อาจลงมือแก้ปัญหาแบบมุทะลุ หุนหันพลันแล่น มีโอกาสผิดพลาดได้สูง เพราะขาดการไตร่ตรอง ขาดความยั้งคิด” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทั้งนี้กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราและเสพสารเสพติด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตเภท ผู้ที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้ว ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดนี้มีเสี่ยงสูงกว่าประชนทั่วไปตั้งแต่ 4 เท่า -100 เท่าตัว

related