svasdssvasds

ไข้เลือดออกระบาด แนวโน้มดีขึ้น หลังยอดผู้ป่วยพุ่ง!

ไข้เลือดออกระบาด แนวโน้มดีขึ้น หลังยอดผู้ป่วยพุ่ง!

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 5,000–8,000 ราย/สัปดาห์ เหลือ 2,000–3,000 คน

วันนี้ (4 ตุลาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีความกังวลถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทย นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จึงพบโรคไข้เลือดออกได้

สถานการณ์โรคไข้เลือดออก

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทยขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 5,000–8,000 ราย/สัปดาห์ เหลือ 2,000–3,000 ราย/สัปดาห์ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่ขอให้ปฏิบัติตนในการป้องกันโรคตามปกติ คือระมัดระวังอย่าให้ถูกยุงกัด นอกจากนี้ ประเทศไทย โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นปีก่อนเข้าสู่ฤดูฝน และดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่ 1 มกราคม - 1 ตุลาคม 2561 พบผู้ป่วย 61,917 ราย เสียชีวิต 80 ราย ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง น้อยกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี และน้อยกว่าที่พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยเรียน อายุ 10-24 ปี ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคกลาง รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างเข้มข้นตามมาตรการ 3-3-1-5 ดังนี้ แจ้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ภายใน 3 ชั่วโมง ทีมสอบสวนโรคลงสอบสวนภายใน 3 ชั่วโมง ดำเนินการควบคุมโรค พ่นยาฆ่ายุงลายในรัศมี 100 เมตร ภายใน 1 วัน เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคได้ผล ไม่กระจายไปในวงกว้าง และประเมินค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ภายใน 5 วันต้องเป็นศูนย์

ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่รกทึบจนเป็นที่เกาะพักของยุงลาย

2.เก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจมีน้ำขังไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

3.เก็บภาชนะใส่น้ำปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขน ขา ข้อพับ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

related