svasdssvasds

ขึ้นทะเบียนแล้ว! “กฎหมายตราสามดวง” มรดกความทรงจำแห่งโลกของไทย

ขึ้นทะเบียนแล้ว!  “กฎหมายตราสามดวง” มรดกความทรงจำแห่งโลกของไทย

ณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ขึ้นทะเบียน “กฎหมายตราสามดวง” เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย

ขึ้นทะเบียนแล้ว!  “กฎหมายตราสามดวง” มรดกความทรงจำแห่งโลกของไทย

รายงานข่าวจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย ให้กับ “หนังสือสมุดไทย เรื่อง กฎหมายตราสามดวง” โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม มอบหมายให้ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษา รมว.วัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตรดังกล่าว แก่นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา

ทั้งนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้นำเสนอคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกให้พิจารณาขึ้นทะเบียน “หนังสือสมุดไทย เรื่อง กฎหมายตราสามดวง” เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ และต้นฉบับที่มีอยู่นั้นเป็นต้นฉบับหลวงมีเนื้อหาข้อความครบถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบความ เป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ ซึ่งสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้เก็บรักษาโดยมีการบริหารจัดการอย่างดี

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเห็นความสำคัญของเอกสารชุดนี้ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อชำระและศึกษามานานกว่า 15 ปี

นายกฤษฎา บุณยสมิต ประธานคณะกรรมการชำระและศึกษากฎหมายตราสามดวง สำนักงาน ราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า กฎหมายตราสามดวงเป็นหนังสือสมุดไทยที่รวบรวมตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ของไทยโบราณ โดยนำต้นฉบับกฎหมายที่มีอยู่เดิมในสมัยอยุธยา มาจัดทำเป็นหมวดหมู่ ชำระ ดัดแปลง ปรับปรุงบทกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ที่วิปลาสทำให้เสียความยุติธรรม จัดทำเป็นประมวลกฎหมายฉบับใหม่ฉบับแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิต 11 ท่าน ร่วมกันชำระใหม่เมื่อ พ.ศ.2348 โดยให้เก็บความจากกฎหมายเก่าของเดิมที่ใช้อยู่ในสมัยอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1893 จนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 นำมาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามสภาพ ลักษณะ สถานการณ์ของบริบทสังคม และให้ใช้เป็นหลักของกระบวนการยุติธรรมให้บ้านเมือง เพื่อสร้างความสุขให้ประชาชน ความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง

เมื่อชำระปรับปรุงเสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เขียนลงสมุดข่อยคัดลอกไว้ 3 ชุด ประทับตรา 3 ดวงไว้ที่ปกหนังสือทุกเล่มเป็นสำคัญ คือ ตราพระราชสีห์ ประจำกระทรวงมหาดไทย ตราพระคชสีห์ ประจำกระทรวงกลาโหม และตราบัวแก้ว ประจำกรมท่า ทั้งยังทรงกำชับว่าหากสมุดกฎหมายใดที่นำมาใช้ไม่มีตราทั้งสามดวงนี้มิให้เชื่อฟังเป็นอันขาด จึงเป็นที่มาของชื่อ กฎหมายตราสามดวง

​ทั้งนี้ พระราชกำหนดบทพระอัยการต่าง ๆ ในกฎหมายตราสามดวงได้ใช้เป็นหลักในการปกครองของไทยมาเป็นเวลายาวนานถึงกว่า 500 ปี จึงนับว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย เป็นหลักฐานชั้นต้นอันเป็นที่มาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทั้งทางด้านกฎหมายและการศาล การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ เช่นอักษรศาสตร์ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในราชสำนักและราษฎรทั่วไปของไทยในอดีต

ที่น่าสนใจคือ หลักกฎหมายหลายประการในกฎหมายตราสามดวงยังมีความทันสมัย สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และมาตรฐานในระดับสากล เอกสารกฎหมายตราสามดวงจึงเหมาะสมที่จะเป็นมรดกความทรงจำแห่งชาติ และมีความเหมาะสมที่จะนำเสนอเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกต่อองค์กร UNESCO ต่อไป

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีสิ่งที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลกทั้งสิ้น 5 รายการได้แก่

1.ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนในปี 2546

2.เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 5 ขึ้นทะเบียนปี 2552

3.จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2551 และขึ้นทะเบียนในระดับโลกใน ปี 2554

4.บันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ.2556

5.ฟิล์มกระจกหลวงและภาพต้นฉบับ ยุครัชกาลที่4-รัชกาลที่6 ขึ้นทะเบียนในปี 2560

related