svasdssvasds

เฮ!! WHO จัดอันดับไทยความปลอดภัยบนถนนดีขึ้น จาก 2 อยู่อันดับที่ 9

เฮ!! WHO จัดอันดับไทยความปลอดภัยบนถนนดีขึ้น จาก 2 อยู่อันดับที่ 9

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการจัดทำรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4 ไทย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.8 ต่อประชากรแสนคน จำนวน 22,491 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน อยู่อันดับที่ 9 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการจัดทำรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4 ทั่วโลกมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 1.35 ล้านคนต่อปี ส่วนในประเทศไทยประมาณการว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังน่าห่วงในวัยหนุ่มสาว อายุ 15- 29 ปี โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์

วันนี้ (25 ธันวาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ผลการจัดทำรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่าจากข้อมูลปี 2559 ทั่วโลกมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 1.35 ล้านคนต่อปี เฉลี่ย 3,700 คนต่อวัน และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตของเด็กและเยาวชนทั่วโลก โดยครึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จักรยาน และคนเดินถนน

สำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.8 ต่อประชากรแสนคน จำนวน 22,491 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน อยู่อันดับที่ 9 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2

สำหรับการประมาณการดังกล่าวใกล้เคียงกับรายงานการบูรณาการข้อมูลของกรมควบคุมโรคร่วมภาคีหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และฐานข้อมูลจากมรณบัตรในปี 2559 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย มีจำนวน 21,745 คน คิดเป็น 31.58 ต่อประชากรแสนคน

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การเสียชีวิตบนท้องถนนของประเทศไทยยังอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและถือว่ายังสูงมากเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน วัยหนุ่มสาว ในช่วงอายุ 15- 29 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์ จึงจำเป็นต้องปกป้องกลุ่มคนดังกล่าวให้ปลอดภัย ตามสิทธิที่ควรได้รับของประชาชนคนไทย ซึ่งหน่วยงานในระดับประเทศและพื้นที่กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกรมควบคุมโรค ในฐานะเป็นภาคีร่วมของการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ทั้งในด้านการจัดการข้อมูลโดยการบูรณาการข้อมูล 3 ฐาน การสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันผลักดันให้มีการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ โดยในรายที่เป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ให้ตำรวจดำเนินการ ส่วนรายที่ไม่สามารถเป่าได้ให้ตำรวจส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล ในด้านการป้องกัน จะเน้นการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่อำเภอและท้องถิ่น ตำบล ชุมชน โดยใช้กลไกการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) และกลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและท้องถิ่น (ศปถ.อำเภอ/ท้องถิ่น/ตำบล) เพื่อบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเพื่อปกป้องกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีโครงการที่จะขับเคลื่อนในปี 2562 นี้ ได้แก่ โครงการอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับขี่รถจักรยานยนต์ และโครงการหน้าโรงพยาบาลปลอดภัย เนื่องจากพบว่ามีประชาชนสัญจรเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา ถนนหน้าโรงพยาบาลหลายแห่งกลายเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในโอกาสใกล้วันขึ้นปีใหม่ 2562 ประชาชนสัญจรท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนากันเป็นจำนวนมาก อยากให้คนไทยระมัดระวังอันตรายจากการสัญจร มีความตระหนัก รู้ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย ปฏิบัติตามกฎจราจร ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทั้งด่านชุมชน และด่านตรวจ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและเพื่อนร่วมทาง หากพบเห็นอุบัติเหตุให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

เฮ!! WHO จัดอันดับไทยความปลอดภัยบนถนนดีขึ้น จาก 2 อยู่อันดับที่ 9

related