svasdssvasds

ทีมเอ็มเสิร์ทลงใต้! เตรียมพร้อม รพ. รับมือเหตุฉุกเฉิน พายุ “ปาบึก”

ทีมเอ็มเสิร์ทลงใต้! เตรียมพร้อม รพ. รับมือเหตุฉุกเฉิน พายุ “ปาบึก”

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพส่งทีมวิศวกรฉุกเฉินลงใต้ ร่วมเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย และวาตภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก”เน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง สถานบริการสุขภาพ และอสม.ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา

วันนี้ (4 มกราคม 2562) นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 4 มกราคม 2562 พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งกรม สบส.ได้ตั้งทีมรองรับเหตุการณ์และพร้อมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว โดยในวันนี้ทีมวิศวกรฉุกเฉิน หรือเอ็มเสิร์ท (MSERT) จากกองวิศวกรรมการแพทย์, กองแบบแผน และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 5 จ.ราชบุรี จะเดินทางไปสมทบกับทีมเอ็มเสิร์ทในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย และวาตภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งได้กำชับให้ทีมวิศวกรฉุกเฉินฯ จากทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง สถานบริการสุขภาพ และอสม.ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา

นายแพทย์ประภาสกล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทของทีมเอ็มเสิร์ทนั้น จะมุ่งเน้นในการเตรียมความพร้อมและดูแลสถานบริการสุขภาพให้พร้อมทำการได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดภัยพิบัติ ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่

1) ด้านวิศวกรรมการแพทย์ อาทิ ระบบไฟฟ้า, ระบบก๊าชทางการแพทย์, ระบบประปา, ระบบลิฟต์และขนส่ง, ระบบสื่อสารฯลฯจะต้องมีการป้องกันมิให้น้ำท่วม และมีระบบสำรองในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

2) ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม จะต้องมีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของโครงสร้าง หลังคา เสาวิทยุสื่อสาร ป้ายต่างๆ ที่เป็นบริเวณรับลมหรือรองรับน้ำฝนในปริมาณมาก มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันระบบระบายน้ำฝน ระบบบำบัดน้ำเสีย เคลื่อนย้ายเครื่องจักร พัสดุ อุปกรณ์ ให้อยู่ในพื้นที่สูง รวมทั้ง เตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับเป็นศูนย์อพยพ หรือรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานบริการสุขภาพแห่งอื่นๆ

นอกจากนี้หน่วยงานส่วนกลาง ทั้งกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน, กองสุขศึกษา และกลุ่มแผนงานจะร่วมจัดทำข้อมูลคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ให้กับสำนักสนับสนุนบริการสุขภาพเขต และศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อส่งต่อให้กับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หรือหญิงตั้งครรภ์ และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้แต่ละครัวเรือนในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าหากเกิดน้ำท่วมระยะยาว

related