svasdssvasds

กพฐ. สั่ง 400 โรงเรียนปรับหลักสูตร English Program ชี้เด็กอ่านภาษาไทยไม่แตกฉาน

กพฐ. สั่ง 400 โรงเรียนปรับหลักสูตร English Program ชี้เด็กอ่านภาษาไทยไม่แตกฉาน

ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผย เตรียมประสาน 400 โรงเรียนปรับหลักสูตรการเรียนการสอน English Program (EP) - Mini English Program (MEP) หลังพบเด็กต้องเรียนหนัก และไม่เข้าใจภาษาไทย

วันนี้ 8 มี.ค. นายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับการจัดการเรียนการสอน ในโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค หรือ Education Hub ใหม่ โดยมีคณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล เป็นผู้ปรับปรุงหลักสูตร

ได้กำหนดให้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่จำนวน 3 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษาหรือครูที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด

2.หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น Intensive English Program (IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2 คือสามารถสื่อสารเรียนรู้ และทำงานในสภาพแวดล้อม หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ ทั้งนี้โรงเรียนสามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

3.หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อทุกคน General English Program (GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ตั้งแต่ยังเล็กๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง โดยนำครูจากโครงการ English Boot Camp ที่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม

ปัจจุบันมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ใช้หลักสูตร IP จำนวน 19 สถานศึกษา ทั้งนี้ใช้หลักสูตร English Program (EP) ที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และใช้หลักสูตร Mini English Program (MEP) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางวิชา รวม 400 สถานศึกษา

ปรากฏว่าเมื่อเด็กเรียนวิชาต่างๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ แต่พอไปสอบเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งข้อสอบเป็นภาษาไทย ทำให้เด็กต้องเรียนหนัก และไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงปรับ EP และ MEP ให้เป็น IEP ทั้งหมด โดยเข้มทางด้านภาษาอังกฤษ” นายเอกชัย กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดที่เปิดสอน EP และ MEP ทบทวนตัวเองว่าจะปรับมาสอนในระดับ IEP หรือ GEP

นายเอกชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สพฐ.จะเปิดเว็บไซต์ในการจัดหาครูต่างชาติ เพื่อให้ครูต่างชาติสามารถสมัครและส่งคุณสมบัติของตนเองมาไว้ที่เว็บไซต์นี้ เพื่อให้สถานศึกษาที่ต้องการครูต่างชาติ เข้ามาเลือกจ้างครูได้ ซึ่งจะเป็นการตัดนายหน้าหาครูเข้ามาสอนออกไป และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน

รวมทั้งให้ สพฐ.จัดทำสัญญาจ้างงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานศึกษา ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล ได้จัดทำคู่มือ English HANDBOOK DRAFT สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันในปีการศึกษา 2562 คณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล

related