svasdssvasds

ธอส.-ธ.ก.ส.ช่วยผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุล พัก-ขยายเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้สินเชื่อฉุกเฉิน

ธอส.-ธ.ก.ส.ช่วยผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุล พัก-ขยายเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้สินเชื่อฉุกเฉิน

สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกมาตรการช่วยผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุล ด้าน ธอส.ออก 7 มาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง ปลอดหนี้บางส่วน และจ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน ขณะที่ ธ.ก.ส. เล็งช่วยเกษตรผ่อนปรนภาระหนี้สิน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ“โพดุล” ซึ่งมีผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และยังอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จนส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบในด้านรายได้และการประกอบอาชีพ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลงด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” ภายใต้กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือ คู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 4.125% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.625% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.625% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.625% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fastrack) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ 15,000 บาท และหากประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัยแล้วพบว่าสูงกว่า 15,000 บาท หรือมีน้ำท่วมตัวที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 100 เซนติเมตรขึ้นไป ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อน จำเป็นในครัวเรือนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย

related