svasdssvasds

น้อมรำลึกฯ ในหลวง ร.9 พระราชทานนาม 8 โครงการชลประทาน

น้อมรำลึกฯ ในหลวง ร.9 พระราชทานนาม 8 โครงการชลประทาน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่บรรดาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในโครงการด้านชลประทาน และได้พระราชทานนามโครงการที่เกี่ยวข้องถึง 8 โครงการ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในจำนวนโครงการพระราชดำริ 4,810 โครงการ ในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 3,000 โครงการ ที่เป็นโครงการชลประทาน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 8 โครงการขนาดใหญ่เท่านั้นที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2529 และเสด็จพระราชดําเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2529 โดยเป็นที่สร้างขึ้นตามพระราชดําริ เดิมชื่อว่าเขื่อนแม่งัดตั้งอยู่บนลําน้ำงัด สาขาแม่น้ำปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

น้อมรำลึกฯ ในหลวง ร.9 พระราชทานนาม 8 โครงการชลประทาน

ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาดําเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี 2528 มีกําลังการผลิต 9,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 19 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

น้อมรำลึกฯ ในหลวง ร.9 พระราชทานนาม 8 โครงการชลประทาน

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2538 ตั้งอยู่ที่ อ.แม่แตง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่นสูง 68 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร สร้างปิดกั้นลําน้ําแม่กวง

เขื่อนแห่งนี้ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 13 ตําบล ในเขต จ.เชียงใหม่และลําพูน รวมพื้นที่ประมาณ 175,000 ไร่ เกิดจากแผนพัฒนางานชลประทานในลุ่มน้ำแม่กวงได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2472 โดยได้ก่อสร้างฝายผาแตกขึ้นที่ดอยลองบ้านผาแตกเมื่อปี 2478 ต่อมากรมชลประทานได้ปรับปรุงฝายใหม่ สามารถส่งน้ำในพื้นที่ 72,750 ไร่

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2519 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะก่อสร้าง และพระราชทานพระราชดําริให้กรมชลประทานศึกษาการพัฒนาลําน้ำสาขาของลำน้ำแม่กวงและจัดหาที่ดินทํากินให้ราษฎร ซึ่งพื้นที่ทำกินดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมหลังการก่อสร้างเขื่อน

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้พระราชทานพระราชดําริเมื่อ 19 ก.พ.2532 ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ําแม่น้ําป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ําเพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นประจําในลุ่มน้ำป่าสักเป็นผลสืบเนื่องมายังเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลด้วย และเสด็จพระราชดําเนินทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันที่ 25 พ.ย.2542

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อที่มีความหมาย คือ เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศ ปริมาณน้ำเฉลี่ยประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เป็นนามพระราชทานที่เป็นมงคลยิ่งมีความหมายถึงความสามารถแบ่งแยกน้ำจืดน้ำเค็มได้สําเร็จ นั่นคือมีการบริหารจัดการอย่างสมดุลปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลําน้ํากักเก็บน้ําจืดไว้ใช้ดํารงชีพซึ่งจะเป็นบทเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและเอื้ออํานวยให้ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำปากพนังเป็นไปอย่างยั่งยืน

ซึ่งประตููระบายน้ำ อันเป็นปฐมบทของโครงการการพัฒนาลุ่มน้ําปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดําริได้เริ่มทําหน้าที่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2542

เขื่อนขุนด่านปราการชล การดำเนินงานได้มีพระกระแสให้ติดป้ายโลหะจารึกประวัติของ ขุนหาญพิทักษ์ไพรวัน ณ บริเวณเขื่อนเพื่อเชิดชูเกียรติคุณ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2549 โดยเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นชื่อพระราชทานที่ได้นำตำนานเจ้าพ่อขุนด่านในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพม่าบุกไทยชาวเขมรลักเสบียงรังแกคนไทยหัวหน้าที่ชาวบ้านเรียกว่าขุนด่าน จะใช้ม้าเร็วรับส่งข่าวรายงานไปยังกรุงศรีอยุธยา

ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพจากพม่าพระยาละแวกตีตลบหลังไทยกวาดต้อนขนทรัพย์สินมีค่าไปเมืองเขมรขุนหาญพิทักษ์ไพรวัน หรือขุนด่านทราบข่าวกองทัพเขมรจะตีนครนายกได้รวบรวมคนไทยซุ่มรอคอยโจมตีทัพพระยาละแวกอย่างห้าวหาญจนทัพเขมรแตกพ่ายไป

เขื่อนขุนด่านปราการชล ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก สร้างขึ้นตามแนวพระราชดําริเพื่อบรรเทาความทุกขยากที่เกิดกับประชาชนชาวนครนายกและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน อําเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกความจุ 769 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ําเพื่อการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งให้แก่พื้นที่ชลประทานแควน้อย151,166 ไร่และเสริมเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่พื้นที่ชลประทานเจ้าพระยาประมาณ 250,000 ไร่และโครงการชลประทานสูบน้ําด้วยไฟฟ้าที่อยู่ในแม่น้ําแควน้อยพื้นที่ 24,000 ไร่

ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต หรือประตูระบายน้ำก่ำตอนล่าง เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2554 ความหมายคือ ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น ตั้งอยู่ที่ ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

และโครงการอุโมงค์ผันน้ำ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” หมายความว่า อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

related