svasdssvasds

ป่าไม้​ ยัน​ "ไร่ชัยราชพฤกษ์" ​พี่ชายชัยวัฒน์ อยู่ในป่าสงวน​

ป่าไม้​ ยัน​ "ไร่ชัยราชพฤกษ์" ​พี่ชายชัยวัฒน์ อยู่ในป่าสงวน​

อธิบดี​กรมป่าไม้​ ระบุ​ ไร่ชัยราชพฤกษ์​ของ​ พี่ชาย​ นายชัยวัฒน์​ ลิ้ม​ลิขิต​อักษร​ 70​ กว่าไร่​ อยู่ในเขตป่าสงวน​ ซึ่งให้สิทธิ์ทำกินแบบ​ หนังสือรับรอง​สิทธิ์​ สทก.​ ได้ไม่เกิน​ ครอบครัวละ​ 20​ ไร่​ ล่าสุดส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ​ -​ ปปท.สอบ

วันที่ 14 พ.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า จากการสำรวจรังวัดเบื้องต้นพบว่า "บ้านไร่ชัยราชพฤกษ์"​ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ของ นายไพโรจน์ ลิ้มลิขิตอักษร พี่ชายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นผู้ถือหนังสือรับรองสิทธิทำกิน (สทก.) ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ที่กำหนดให้กรมป่าไม้ให้สิทธิ์ทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มี สภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้ว แก่ชาวบ้านเข้าทำกินและอยู่อาศัยได้ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่

โดยได้ส่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นให้กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อสรุปผลต่อไป​ นอกจากนี้ยังรวมถึงการตรวจสอบเอกสาร เรื่องการครอบครองต่างๆ ว่าได้มาโดยชอบหรือไม่

ด้าน​ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า บอกว่า กรมป่าไม้ เคยเข้าตรวจสอบ "บ้านไร่ชัยราชพฤกษ์" ร่วมกับทางดีเอสไอ ตรวจเฉพาะเอกสาร และแปลงที่ได้รับสิทธิ สทก.ที่มีการรังวัด 20 แปลง และมี 3 แปลงที่ออกมาก่อนมติ ครม.30 มิ.ย. 2541 มีที่ดินประมาณกว่า 100 ไร่​ ไม่ปรากฎมีชื่อของนายชัยวัฒน์ ครอบครอง แต่ผู้ครอบครองทั้ง 3 คนเป็นญาติกัน เบื้องต้นยังไม่พบการกระทำผิด มีหลักฐานการรังวัดประมาณ 20 แปลง 100 ไร่ ตรวจก่อนที่จะมีเรื่องบิลลี่ ร่วมกับดีเอสไอ เพราะหลักฐานออกมาก่อน มติ​ ครม.30 มิ.ย.2541 ทำให้ราษฎรมีสิทธิ์​ทำกินด้วยการรังวัดให้เป็นที่ดิน สทก. ดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือ สทก. ที่มอบให้ราษฎรนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ  ลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ ประกอบด้วย

แบบที่ 1เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือแบบ สทก.1ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้ครั้งแรก มีอายุการอนุญาต 5 ปี ขนาดเนื้อที่อนุญาตให้ตามที่ครอบครองอยู่จริง แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเมื่อครบกำหนดการอนุญาตให้ครั้งแรก จะเปลี่ยนหนังสืออนุญาตตามแบบ สทก.2 ก

แบบที่ 2 เรียกว่า สทก.2 ก ออกให้สำหรับผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไข กรมป่าไม้จะออกหนังสือฉบับนี้ให้เพื่อมีสิทธิทำกินในที่ดินเดิมต่อไปซึ่งไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว (โดยจะเรียกเก็บหนังสือ สทก.1 ก ด้วย) มีอายุการอนุญาต 5 ปี และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้อัตราไร่ละ 20 บาท (ต่อหนึ่งคราวการอนุญาต) เมื่อครบกำหนดก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้

แบบที่ 3 เรียกว่า  “หนังสืออนุญาตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือ แบบ สทก.1 ข เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกให้แก่ราษฎรผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่า 20 ไร่ และมีความประสงค์จะปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเนื้อที่ไม่เกิน 35 ไร่ ต่อครอบครัว มีอายุการอนุญาตคราวละ 10 ปี และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตในอัตราไร่ละ 20 บาท ทั้งนี้ราษฎรจะต้องปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น เมื่อครบกำหนดเวลาการอนุญาตก็สามารถต่ออายุได้

related