svasdssvasds

7 วัน อันตราย 2563 วันแรกเกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง ดับ 43 ราย

7 วัน อันตราย 2563 วันแรกเกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง ดับ 43 ราย

อนุทิน เผยตัวเลข 7 วันอันตราย ปีใหม่ 2563 พบอุบัติเหตุ 464 ครั้ง บาดเจ็บ 466 ราย เสียชีวิต 43 ราย เมาขับสาเหตุอันดับหนึ่ง กำชับใช้ กม.เข้มงวด จัดแพทย์พร้อมเข้าถึงที่เกิดเหตุ สายด่วน 1669-1784

วันนี้ 28 ธ.ค. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข แถลงสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 27 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” 

สรุปอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงวันที่ 27 ธ.ค.2562

มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง เพิ่มขึ้น 45 ครั้ง คิดเป็น +10.74% จากในช่วงเดียวกันของเทศกาลปีใหม่ 2562

มีผู้บาดเจ็บ 466 คน เพิ่มขึ้น 38 คน คิดเป็น +8.88% จากในช่วงเดียวกันของเทศกาลปีใหม่ 2562

ผู้เสียชีวิต 43 คน ลดลง 2 คน คิดเป็น -4.44% จากในช่วงเดียวกันของเทศกาลปีใหม่ 2562

โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถในขณะเมาสุรา และขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกพื้นที่จะกวดขันวินัยจราจรเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ตาม 10 ข้อหาหลัก ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญคือ ขับรถขณะเมาสุรา,ขับรถย้อนศร,ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร,ไม่แซงในที่คับขัน,ไม่สวมหมวกนิรภัย, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เวลา 16.01 – 20.00 น. คิดเป็น 30.39%

สำหรับการจัดตั้งจุดตรวจนั้น มีจุดหลัก 2,026 จุด จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 63,961 คน โดยได้เรียกตรวจยานพาหนะ 731,933 คัน และมีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 158,453 ราย ในความผิดไม่สวมหมวกนิรภัย 42,912 ราย , ไม่มีใบขับขี่ 39,584 ราย

ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 20 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จ.เชียงราย และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 4 ราย โดย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ 22 คน 

และในปีนี้ได้กำชับให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และเข้มการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์กรณีเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต รวมถึงสืบหาผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน หรือแม้แต่ผู้สนับสนุนให้เยาวชนดื่มแอลกอฮอล์ เช่น พ่อ แม่ หรือญาติ ทุกคนจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

ด้านผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน นพ.ธนพงษ์ จินวงษ์ บอกว่า แม้ปีนี้โดยภาพรวมสถิติตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังมีข้อกังวลว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ยังต้องเฝ้าระวังอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกำหนดและหลับใน โดยเฉพาะประชาชนที่จะเดินทางขึ้นเหนือ ในช่วงเช้าสภาพอากาศมีหมอกลง พื้นถนนลื่น ทัศนวิสัยการมองเห็นลดลง จากสถิติปีที่ผ่านมามีหนึ่งวันที่เกิดฝนตก ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นชัดเจน

ข้อกังวลอีกสิ่งหนึ่งคือ ในช่วงเวลาที่เฉลิมฉลองตั้งแต่วันที่ 29 เป็นต้นไป ตัวเลขเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับปีที่ผ่านมาสูงถึงเกือบ 1,500 คน คำถามก็คือว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และดื่มมาจากที่ใหน ดื่มจากลานเบียร์หรือไม่ นพ.ธนพงษ์

จึงเสนอให้ภาครัฐใช้มาตราการเข้มงวดในการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์บนถนนสายลองอย่างเข้มงวด ทั้งด่านตำรวจ และด่านชุมชน โดยทำงานเชิงรุก ตำรวจหรือผู้นำชุมชนเข้าพื้นที่ทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มนักดื่มว่าเด็กไม่ควรดื่ม หรือดื่มแล้วไม่ควรขับขี่รถ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขับหลีกเลี่ยงด่าน และเจ้าหน้าที่มีปัญหาผิดใจกันกับผู้ปกครอง

 

related