svasdssvasds

กรมชลฯ ชี้ปี63 วิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยารุนแรงสุด​อันดับ 2 ในรอบ​ 60​ ปี

กรมชลฯ ชี้ปี63 วิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยารุนแรงสุด​อันดับ 2 ในรอบ​ 60​ ปี

กรมชลประทาน ชี้วิกฤติแล้ง ลุ่มเจ้าพระยา รุนแรงสุดเป็นที่สองของไทยรอบ 60 ปี เตือนรับมือ ปริมาณน้ำเจ้าพระต่ำกว่าระดับ เร่งเพิ่มระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก 28 ล้านลบ.ม. ดันน้ำเข้าคลองสาขา แก้น้ำเค็มรุกประปาหนัก ปีหน้าแล้งหนักกว่านี้มาก

เมื่อวันที่29 ธ.ค. นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยใน 4 เขื่อนใหญ่ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ ได้จัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งนี้ (1พ.ย.62-30เม.ย.63) เป็นน้ำใช้การได้ 4,044 ล้านลบ.ม.ใช้ไปแล้ว 1,044 ล้านลบ.ม. เท่ากับต้องใช้น้ำเกินแผนจัดสรรน้ำ 200 ล้านลบ.ม.หรือ 4%

จึงมีการเพิ่มระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก จากแผนเดิมวันละ 18 ล้านลบ.ม. เป็น 28.88 ล้านลบ.ม. ในระหว่างวันที่ 23 ธ.ค.62 ถึงวันที่ 5 ม.ค.63 เพื่อผลิตประปา รักษาระบบนิเวศตลอดลำน้ำ ตั้งแต่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา ผลักดันน้ำทะเล จนถึงอ่าวไทย เนื่องจากขณะนี้ค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี มีระดับ 0.28 กรัมต่อลิตร ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี 4.73 กรัมต่อลิตร ท่าน้ำกรมชลประทานกรุงเทพ 6.06 กรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 3 จุด โดยจะต้องคุมค่าความเค็มให้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร สำหรับผลิตประปาและการเกษตร 2 กรัม

“จะต้องรักษาระดับน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ไม่ให้ต่ำกว่า 13.33ม.รทก.โดยระบายผ่านเขื่อน85ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ที่ผ่านมาในการปล่อยน้ำตามแผนพบว่ามีน้ำหายระหว่างทาง จากระบบมีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตร

ขอให้หยุดสูบตั้งแต่จ.กำแพงเพชร ลงมาจนถึง เขื่อนเจ้าพระยา เพราะหากไม่หยุดจะทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำน้อยลงมาก ส่งผลรักษานิเวศทุกลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา กระทบการผลักดันน้ำเค็มไปด้วย

หากระดับน้ำหน้าเขื่อนต่ำกว่า13.2ม.รทก.จะเป็นผลทำให้มีปัญหาต่อการดันน้ำเข้าระบบชลประทานคลองสาขาทั้งฝั่งซ้าย ขวา ของแม่น้ำเจ้าพระยา และปลายน้ำ จะกระทบระบบนิเวศทุกคลอง ตลิ่งทรุดพัง กระทบการผลิตประปาทั้งท้องถิ่นภูมิภาค และประปานครหลวง

จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อให้มีปริมาณในการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้าระบบสถานสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี ขณะนี้ยังน่าห่วงเพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงถึง15 ม.ค.63 จะต้องปล่อยระบายน้ำดันน้ำเค็ม ที่บางช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคุมการใช้น้ำอย่างเข้มงวดไม่ได้เท่ากับปี 2558 ที่มีรัฐบาลคสช.ที่สามารถคุมน้ำไม่หายไว้ได้หลายร้อยล้านลบ.ม. ซึ่งปีนี้ มีปัญหาน้ำหายกลางทาง เพราะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า1.3 ล้านไร่ แม้ได้ประกาศล่วงหน้าไม่ส่งน้ำให้ทำเกษตร คาดว่าชาวนาจะหยุดปลูกแล้วจกาการลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะตัวเลขเริ่มนิ่งจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยายพื้นที่ปลูก 2 แสนไร่ต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ยังได้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยตลอดฤดูแล้งนี้ มาเสริมลุ่มเจ้าพระยา ผ่านคลองพระยาบรรลือ มาช่วยดันน้ำเค็ม ได้เพิ่มติดตั้งเครื่องสูบน้ำคลองจระเข้สามพัน เดิมวันละ 25 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มเป็น 30 ลบ.ม.ต่อวินาที ในการรักษานิเวศ ตลอดลำน้ำ เพิ่มจาก 800 ล้านลบ.ม.เป็น 2 พันล้านลบ.ม.ในพื้นที่เจ้าพระลาตอนล่าง ป้องกันความเค็มและมีน้ำดิบเพียงพอป้อนระบบประปากรุงเทพ และปริมณฑล” อธิบดีกรมชลฯกล่าว

นายทองเปลว กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมถึงน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งมีปริมาณลดน้อยลง เช่นเดียวกับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปีหน้าฝนจะตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 60 ปี  และปีนึ้ตกต่ำประมาณ 16% และปี 63 จะแล้งรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 จากปี 2522 และปี2558 กลายเป็นแล้งที่สุดอันดับ 3 ของไทย

หากคุมการใช้น้ำภาคเกษตรไม่ได้ ปล่อยระบายน้ำหายกลางทางและกรมอุตุฯ คาดอีก 7 เดือนฝนต่ำกว่าเฉลี่ย และผลการส่งน้ำ ยังไม่คุมเข้ม จะใช้น้ำมากกว่าแผน แนวโน้มอย่างนี้ปีหน้าความแห้งแล้งทวีความรุนแรงเกิดขึ้นกระจายทั่วประเทศ นายกฯ รมว.เกษตรฯห่วงใย ให้ทุกกรมในกระทรวงเกษตรฯทำงานเชิงบูรณาการป้องกันปัญหาภัยแล้งโดยเร่งด่วน ไม่ขยายวงกว้าง มีทางเดียวคือการขอความมือจากประชาชน ช่วยกันประหยัดน้ำ และขอให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ท้องที่ ช่วยคุมการใช้ทุกระดับ ตำบล หมู่บ้าน

ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมชลฯทุกที่ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เฝ้าน้ำ ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำต่ำหน้าเขื่อน เจ้าพระยา ถ้าต่ำกว่าระดับ13.1ม.รทก.(น้ำทะเลปานกลาง) จะกระทบพังทุกระบบ และกระทบไปถึงปีหน้าน่ากลัวมากเรื่องน้ำ

ทั้งนี้การแก้ปัญหากรณีคลองชัยนาท-ป่าสัก บริเวณสะพาน 4 (สะพานข้ามคลอง มุ่งหน้าสถานีรถไฟโคกกะเทียม แห้งขอด นั้น ว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าประตูระบายน้ำมโนรมย์ ประมาณ 7 เซนติเมตร ทำให้ไม่สามารถรับน้ำโดยแรงโน้มถ่วงได้

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ สำนักงานชลประทานที่ 10 สำนักเครื่องจักรกล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 เครื่อง สูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ได้ประมาณ 16 ลบ.ม./วินาที โดยทำการสูบต่อเนื่องมาตั้งแต่ วันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา พร้อมทั้งประสานมายังกรมชลประทานขอเพิ่มปริมาณน้ำที่ส่งเข้าสู่ระบบ

ในการนี้กรมชลประทาน ได้สนับสนุนปริมาณน้ำเพิ่มจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณน้ำส่วนนี้เดินทางถึงเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2562 ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้ายามีระดับสูงขึ้น และเมื่อเวลา 06.00 น. ของวันที่ 29 ธันวาคม 2562 มีปริมาณน้ำไหลโดยแรงโน้มถ่วงเข้าสู่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ได้กว่า 16 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณจากการใช้เครื่องสูบน้ำอีกประมาณ 16 ลบ.ม./วินาที จะมีปริมาณน้ำผ่านประตูระบายมโนรมย์กว่า 31 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

ด้านสำนักงานชลประทานที่10 ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรบริเวณต้นคลอง ไม่ทำการสูบน้ำระหว่างทางเนื่องจากต้องควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลลงสู่พื้นที่ทางตอนล่าง เพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ในปัจจุบันให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ อีกทั้งได้ร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพระพุทธบาท จ.สระบุรี ในการเตรียมใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำรอง (ทะเลสาบบ้านหมอ) เพื่อมาช่วยสนับสนุนการผลิตน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพระพุทธบาท ตามแผนที่กำหนดไว้เพื่อให้สามารถคงการจ่ายน้ำให้กับบ้านเรือนได้

related