svasdssvasds

มหาสารคาม แล้งหนัก! ไม่มีน้ำผลิตประปาหมู่บ้านเดือดร้อนกว่า100 ครอบครัว

มหาสารคาม แล้งหนัก! ไม่มีน้ำผลิตประปาหมู่บ้านเดือดร้อนกว่า100 ครอบครัว

มหาสารคาม ภัยแล้ง วิกฤต! ชาวบ้านกว่า 110 ครัวเรือน เดือดร้อน ห้วยกุดกอกแห้งขอด กระทบประปาหมู่บ้าน เร่งระบายน้ำ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เติมน้ำให้กับแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้าน

ภัยแล้ง วันที่ 14 ม.ค. 2563 แม้จะยังไม่เข้าสู่หน้าแล้งอย่างเป็นทางการ แต่ที่บ้านป่าเป้าหมู่10 ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ชาวบ้านกว่า 110 ครัวเรือน กำลังได้รับความเดือดร้อน จากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก  นายสานยนต์ สิมหาบุตร เล่าว่า ขณะนี้ห้วยกุดกอก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตประปาหมู่บ้านแห้งขอด จนไม่สามารถผลิตประปาได้  ทำให้ไม่มีน้ำทำการเกษตรอุปโภคบริโภคได้ จึงร้องขอไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จ.ขอนแก่น เพื่อขอความช่วยเหลือ

ล่าสุด นายวัลลภ จินรัตน์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาตามหมู่บ้านเริ่มแห้งขอด ทำให้ขาดแคลนน้ำสำหรับผลิตประปา หมู่บ้านหลายแห่งเข้าสู่ภาวะวิกฤต

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จึงได้ระบายน้ำจากหน้าฝายหนองหวายประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยน้ำจะไหลผ่าน อำเภอเมือง อำเภอน้ำพอง อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ผ่านอำเภอเชียงยืนและอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

ทั้งนี้ ในเขตอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม มีแหล่งน้ำจำนวน 25 แหล่งเก็บน้ำ ที่ใช้สำหรับผลิตประปาหมู่บ้านที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งทางโครงการหนองหวายได้จัดสรรน้ำ โดยการส่งน้ำเข้าคลองชลประทานตามแผนที่ได้วางไว้

โดยเฉพาะที่บ้านป่าเป้า หมู่ 10 ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย ซึ่งมีห้วยกุดกอกพื้นที่ 135 ไร่ เป็นแหล่งผลิตประปาให้กับชาวบ้าน 110 ครัวเรือน ประชากร 470 คน ที่ผ่านมา แหล่งน้ำเข้าสู่ภาวะวิกฤต หากไม่มีน้ำมาเติม ภายใน 1 สัปดาห์ ชาวบ้านต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค

ซึ่งระยะทางที่น้ำไหลผ่านมาจากคลองหลัก ผ่านคลองย่อยและผ่านมายังคลองซอย เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ห้วยกุดกอก ระยะทางรวมกว่า 12 กิโลเมตร น้ำไหลลงลำห้วยปริมาณ 500 ลิตรต่อวินาที ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาระบายน้ำลงแหล่งน้ำอีกราว 5 วัน ก็จะช่วยให้ชาวบ้าน ให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้

related