svasdssvasds

COVID-19 เราจะอยู่กับมัน ได้อย่างไร ? หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 18 เดือน

COVID-19 เราจะอยู่กับมัน ได้อย่างไร ? หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 18 เดือน

อดีตผู้จัดการ สสส. เผยแพร่บทความ “เราจะอยู่กับ COVID-19 18 เดือน ได้อย่างไร ?”

COVID-19

COVID-19 กรณีที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. ได้เขียนบทความวิเคราะห์ “COVID-19 จะจบเมื่อไหร่?” ซึ่งได้รับความสนใจ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ล่าสุด ทพ.กฤษดา ได้เผยแพร่บทความ “เราจะอยู่กับ COVID-19 18 เดือน ได้อย่างไร?” ผ่านเฟซบุ๊กจองตัวเอง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้เล่าให้ทุกท่านฟังว่าเราคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับ COVID-19 ไปอีกสัก 18 เดือน จนกว่าจะมีวัคซีนมาฉีดป้องกันให้กับทุกคนได้ แต่อยากให้พวกเราได้เห็นภาพว่าการอยู่กับ COVID-19 เป็นเวลา 18 เดือนนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

เพียงแต่เราต้องปรับตัวบางอย่าง หลายอย่างอาจไม่สะดวกสบายแบบเดิม แต่เราก็สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ แม้การทำงานหาเงินจะยากลำบากขึ้นมาก แต่อย่างที่ว่าครับ "ไม่มีความลำบากอะไรที่มนุษย์ทนไม่ได้"

COVID-19 เราจะอยู่กับมัน ได้อย่างไร ? หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 18 เดือน

ดังนั้นสิ่งแรกที่พวกเราต้องช่วยกันคิดก็คือ เราจะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างไรทั้งการทำงาน การดูแลครอบครัว โดยที่ยังปลอดภัยจากโรคร้ายนี้

ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่รายงานทุกวันจะเห็นว่าตัวเลขลดต่ำลงอย่างน่าดีใจ ซึ่งแสดงว่าสถานการณ์โดยรวมกำลังไปได้ดี

แต่ถ้าเราประมาทโดยกลับมาใช้ชีวิตแบบไม่ระวัง ทั้งการไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และเริ่มไปพบปะกับเพื่อนฝูง ติดต่อกิจการงานอย่างปกติ ขึ้นรถ BTS หรือรถเมล์ที่คนแน่นๆ ฯลฯ โรค COVID-19 ก็จะกลับมาเยือนพวกเราได้อีกครั้ง เหมือนในหลายๆ ประเทศที่เกิดขึ้นมาแล้ว

แล้วจะทำอย่างไรดี ผมและเพื่อนๆ นักคิด นักวิชาการ กลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจใดๆ อยากขอเสนอแนวทาง "ค่อยๆ ทยอยเปิดเมืองและกิจการ อย่างปลอดภัย"

และถ้าพบว่าจังหวัดใด หรือกิจการใด มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็ให้รีบปิดทันที

โดยถ้าเราดูตัวเลขของผู้ติดเชื้อใหม่ในระดับจังหวัด จะพบว่าสามารถแยกจังหวัดได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มสีเขียว จำนวน 16 จังหวัด

ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เลยในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แก่ จังหวัด น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด พังงา ระนอง เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม ยโสธร สุโขทัย อุทัยธานี

จังหวัดกลุ่มนี้น่าจะเป็นจังหวัดที่เริ่มทดลองเปิดได้ก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าจังหวัดต้องที่มีแผนและมาตรการป้องกันโรคที่ดี ถ้าจังหวัดใดยังไม่มีแผนและมาตรการที่ดี ก็ยังไม่ควรเปิด

กลุ่มสีเหลือง จำนวน 54 จังหวัด (จังหวัดที่เหลือจากกลุ่มสีเขียว และแดง)

จังหวัดกลุ่มนี้ให้ทยอยเปิดเป็นกลุ่มที่สอง โดยให้เปิดตามความพร้อมของจังหวัด จังหวัดใดไม่พร้อมยังไม่ต้องเปิด และเช่นเดียวกัน ถ้าจังหวัดใดเกิดการแพร่ระบาดมากก็สามารถปิดได้ทันที

กลุ่มสีแดง จำนวน 7 จังหวัด ที่ยังมีการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

จังหวัดกลุ่มนี้ควรเปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยต้องรอให้จังหวัดสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อน และจังหวัดต้องมีแผนและมาตรการป้องกันที่ดี จึงจะให้เปิดได้

ถ้าเราทยอยเปิดแบบนี้ จะทำให้มีความรอบคอบมากขึ้น และสามารถประเมินผลได้ว่าเปิดแล้วมีปัญหาหรือไม่ และสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

COVID-19 เราจะอยู่กับมัน ได้อย่างไร ? หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 18 เดือน

นอกจากการแนวทางการทยอยเปิดจังหวัดแบบปลอดภัย แล้วควรต้องส่งเสริมให้ธุรกิจแต่ละประเภท ได้หารือกัน เพื่อจัดทำรายละเอียดและวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละธุรกิจ เช่น

ห้างสรรพสินค้า

ต้องมีมาตรการทำให้อากาศในห้องปลอดภัยโดยต้องมีการระบายอากาศอย่างน้อย 20 เท่าใน 1 ชั่วโมง

ต้องมีการกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าห้างสูงสุดไม่เกินกี่คน อาจต้องมีการกำหนดเส้นทางเดินของลูกค้าเพื่อไม่ให้เดินปะปนกัน รวมทั้งมาตรการพื้นฐานเช่น การจัดให้มีเจลล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาความสะอาด การเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้ เป็นต้น

ร้านอาหาร

ต้องมีมาตรการเรื่องอากาศที่ปลอดภัย มาตรการการแยกที่นั่ง มาตรการจำกัดจำนวนคนเข้าร้าน มาตรการล้างมือ ฯลฯ

ร้านตัดผม

ควรมีมาตรการระบายกาศที่ดี มาตรการการทำความสะอาดผ้าและอุปกรณ์ มาตรการทำความสะอาด มาตรการจำกัดจำนวนคนเข้าร้าน ฯลฯ

COVID-19 เราจะอยู่กับมัน ได้อย่างไร ? หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 18 เดือน

จะเห็นได้ว่ามีรายละเอียดที่ต้องคิดมากมาย และแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ

ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ยากเลย เพราะเขามีกำลังเงินและสามารถดึงผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านวิศกรรม สถาปนิก นักสาธารณสุข มาช่วยให้คำแนะนำได้

แต่ที่น่าเป็นห่วงมาก คือกิจการขนาดเล็ก เช่นร้านขายอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย แผงขายหนังสือข้างทาง ร้านตัดผมในชุมชน ร้านขายของชำ ฯลฯ

กิจการเหล่านี้ต้องมีคนไปช่วยคิด ช่วยแนะนำ โดยอาจดึงนักวิชาการและอาสาสมัคร เข้าไปช่วย (ลองดูตัวอย่างรูปร้านอาหารของจีนที่ใช้กระดาษกล่องราคาถูกๆ มากั้นระหว่างคนกิน :ขอขอบคุณ อ.สมชัย จิตสุชน ที่กรุณาส่งรูปมาให้) วิธีการแบบนี้ง่าย ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก และใช้งานได้จริง

เราต้องการอาสาสมัครจากทุกวงการมาช่วยกันคิดร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้สามารถออกแบบวิธีการที่เป็นไปได้จริง และราคาไม่แพง

แนวคิดที่นำเสนอนี้ ถูกจัดทำขึ้นโดย นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค ซึ่งพวกเรารวมตัวกันแบบอาสาสมัคร หากท่านใดเห็นว่า ความคิดเหล่านี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยไม่ต้องอ้างอิงว่ามาจากพวกเรา

และหากท่านมีความคิดดีๆ พวกเราก็ยินดีที่จะเปิดรับความคิดที่หลากหลาย เพราะเราเชื่อว่าวิกฤติ COVID-19 จะแก้ไขได้ ด้วยพลังและความร่วมมือของทุกคน

หากพวกเราช่วยกันคิด ช่วยกันผลักดัน ช่วยกันทำให้เป็นจริง ปัญหาใหญ่เพียงใด พวกเราก็จะสามารถฝ่าฟันไปได้ และผ่านวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

ภาพโดย PIRO4D จาก Pixabay

ภาพโดย Miroslava Chrienova จาก Pixabay

 

related