svasdssvasds

สธ. หวั่น ปชช.ใช้ชีวิตปกติ-ยอดติดเชื้อโควิด-19 อาจพุ่ง

สธ. หวั่น ปชช.ใช้ชีวิตปกติ-ยอดติดเชื้อโควิด-19 อาจพุ่ง

กระทรวงสาธารณสุข กังวล กรณีประชาชนเริ่มออกมานอกบ้านมากขึ้น หวั่นผู้ติดเชื้อเพิ่ม ซ้ำรอยประเทศสิงค์โปร์ ย้ำมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ระยะห่างทางสังคม ยังคงต้องดำเนินการต่อไป.

วันนี้ (21 เม.ย. 63) - นพ. อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคเปิดเผยถึฝ สถานการณ์ว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ต่ำกว่า 20 ราย ถึงแม้ผู้ป่วยรายใหม่จะลดลง แต่อยากจะย้ำ ว่า ระบบการป้องกันโรค การคัดกรองต่างๆ ยังคงต้องเข้มข้น ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปที่ยังคงต้องเข้มมาตรการสาธารณสุข ส่วน ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อถึงไทย ต้องกักตัวตามสถานที่รัฐจัดไว้ให้ 14 วัน

ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยรักษาหายกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งในรายที่เชียงรายและชัยภูมิ เบื้องต้น หากเชื้อไม่รุนแรง จะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2 สัปดาห์ก่อน จากนั้นแพทย์จะพิจารณา ให้กลับบ้าน แต่ต้องกักตัวให้ครบ 30 วัน ต่อเนื่อง

ซึ่งทั้ง 2 กรณี ยังอยู่ในระยะเวลาการเฝ้าระวังที่บ้าน30 วัน ซึ่งตามปกติแล้วในช่วงระยะเวลา 30 วัน ยังคงมีซากเชื้ออยู่ โดย รายชัยภูมิ ยืนยันว่าเป็นซากเชื้อโควิด-19 อยู่ แต่ไม่มีไข้

ส่วนรายที่เชียงราย นอกจากมีไข้แล้ว พบว่ามีปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของแพทย์ ว่าเกี่ยวข้องกับโควิด-19 หรือไม่ หรือเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม

โดยภายในระยะเวลา 30 วัน ที่ให้ผู้ป่วยที่รักษาหายกักตัวต่อ ในช่วงนี้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ในการป้องกันไม่ให้ติดซ้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป เนื่องจากเป็นโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่

นพ.อนุพงศ์ ขอย้ำว่า ถึงแม้สถานการณ์ ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากประชาชนเริ่มออกมานอกบ้าน สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การแพร่โรคที่จะตามมา ภาคประชาชนยังคงต้องอยู่ภายในบ้านก่อน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เนื่องจากในแต่ละวัน มีผู้ที่ขอเดินทางกลับไทย ผ่านช่องทางบก ชายแดนใต้ มากกว่า วันละ 350 ราย แต่ทั้งนี้ยังไม่ร่วมเส้นทางอื่นที่เริ่มให้ประชาชนทยอยเดินทางกลับไทย

ส่วนสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นที่จะเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม จากการติดตามข้อมูลตั้งแต่ เดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน พบตัวเลขผู้ป่วย โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม ลดลงตามลำดับ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากประชาชน มีการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดโรคระบบทางเดินหายใจได้ แต่ในช่วงนี้ที่ยังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่ อาจมีความเป็นไปได้น้อย ที่ผู้ป่วยอาจจะเป็น 2 โรค พร้อมกัน ส่วนความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่และคน ทำให้แพทย์ต้องวิเคราะห์โรคอย่างละเอียดมากขึ้น

related