svasdssvasds

รายงานที่จีนปฏิเสธ ค้นหาเบื้องหลังความแห้งแล้งของ แม่น้ำโขง

รายงานที่จีนปฏิเสธ ค้นหาเบื้องหลังความแห้งแล้งของ แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขง เป็นเส้นสายหลักชีวิตของประชาชนนับล้านใน 6 ประเทศ แต่ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการ แม่โขงแห้ง หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ จนสถาบันต่างๆ พยายามหาคำอธิลาย และเกิดเป็นคำถามกับพฤติกรรมของจีน

แม่น้ำโขง มีต้นน้ำในประเทศจีน และไหลลงใต้ผ่าน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในลำน้ำโขงกลับต่ำลงเรื่อยๆ แล้งมากขึ้น และนานขึ้น จนกระทบชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่จีนสร้างเขื่อนต้นน้ำจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานยืนยัน จนเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่สถาบันวิจัยอิสระในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียม และผลการวิจัย ว่าเป็นหลักฐานยืนยันว่าจีนกักเก็บน้ำ และเป็นผู้เปลี่ยนชะตากรรมคนในลุ่มแม่น้ำตอนล่าง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญจาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ออกความเห็นว่า จีนไม่น่าจะสามารถกักน้ำไว้ได้ทั้งหมดจนเป็นสาเหตุให้ แม่น้ำโขงแห้ง แต่พฤติกรรมของจีนเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์แล้งรุนแรงกว่าที่น่าจะเป็น

รายงานโดยสถาบันในสหรัฐฯ

อายส์ออนเอิร์ธ (Eyes on Earth) องค์กรอิสระที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับลุ่ม แม่น้ำโขง ออกรายงาน “การติดตามปริมาณการไหลของน้ำผ่านลุ่มน้ำโขงตอนบน ภายใต้สภาพทางธรรมชาติ” และ “ค่าความผิดปกติของความชื้นในแม่น้ำโขงช่วงฤดูมรสุมปี 2562” ในขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยสติมสันได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “จีนปิดก๊อกลำน้ำโขงอย่างไร”

อายส์ออนเอิร์ธ รายงานว่า ได้มีการใช้ซอฟต์แวร์จำลองคาดการณ์การไหลของน้ำตามธรรมชาติ คำนวณปริมาณน้ำที่น่าจะไหลมาตามธรรมชาติ เปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากมาตรวัดระดับน้ำที่เชียงแสน ซึ่งในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงหายไปจากมาตรวัดถึง 126.44 เมตร

ในช่วงเวลา 28 ปีนี้ รายงานระบุว่า ระดับน้ำลดลงในช่วงที่มีการปล่อยน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนมั่นวันและเขื่อนเฉาซานของจีน และในปี 2555 มีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลักขึ้นอีก 2-3 แห่ง ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณและช่วงเวลาการปล่อยน้ำจากต้นน้ำอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนเคยให้เหตุผลในการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ว่า เพื่อควบคุมการไหลของน้ำเพื่อปันน้ำให้เท่าเทียมกันมากขึ้นในช่วงน้ำมากและน้ำน้อย

อายส์ออนเอิร์ธสรุปในรายงานว่า ความแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2562 เป็นหนึ่งในผลกระทบที่รุนแรงที่สุด จากการบริหารจัดการและควบคุมการไหลของน้ำของจีน ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่โขงตอนล่างลดลงอยู่ในช่วงระดับน้ำต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง เกือบตลอดทั้งปี

ด้านรายงาน “จีนปิดก๊อกลำน้ำโขงอย่างไร” โดยสถาบันสติมสัน ระบุว่าปีที่ผ่านมา จีนมีปริมาณหยาดน้ำฟ้า (precipitation) สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่เขื่อนของจีนกักน้ำไว้ “แม้กระทั่งในยามที่ประเทศท้ายน้ำประสบภัยแล้งรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผลการศึกษาชิ้นใหม่เหล่านี้ต่างยืนยันตามข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่าจีนกำลังกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก ทั้งยังเป็นต้นเหตุให้ระดับน้ำบริเวณท้ายน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติซึ่งก่อความเสียหายใหญ่หลวง”

สติมสันระบุว่า ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่รวม 11 แห่งกระจายตัวตามลำน้ำโขงตอนบนในเขตแดนจีน

สติมสันอ้างข้อมูลอายส์ออนเอิร์ธ ระบุว่า ข้อมูลของอายส์ออนเอิร์ธแสดงให้เห็นว่า จีนปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการระดับน้ำในปี 2555 โดยเพิ่มปริมาณน้ำที่กักไว้ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา 1-2 เมตร ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างเขื่อนนั่วจาตู้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่เปิดใช้งานเมื่อปี 2555

จีนไม่ยอมรับผลสรุปรายงาน

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่าฝนแล้งเป็นสาเหตุหลักของภัยแล้งครั้งนี้และจีนก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน โดยกล่าวว่า “จีนเอาชนะความยากลำบากของตนและได้เพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำล้านช้างเพื่อช่วยประเทศลุ่มน้ำโขงบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง”

ขณะที่จีนรายงานว่าน้ำโขงในจีนก็แห้งแล้งกว่าปกติเช่นกัน แต่สถาบันวิจัยของสหรัฐฯ ก็ได้เผยแพร่รายงาน ที่ให้เห็นว่าระดับความชื้นช่วงแม่น้ำโขงตอนบนไม่ได้อยู่ในระดับแล้งอย่างที่จีนอ้าง

แม่น้ำโขง

ความร่วมมือในการแก้ปัญหา

ปี 2538 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แต่เป็นความร่วมมือระหว่าง กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม และไม่มีจีนร่วมด้วย ปีต่อมา จีนได้เข้าร่วมเป็นคู่เจรจา และได้มีการเสนอกรอบ “ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง” เมื่อปี 2555 ด้วยจุดประสงค์ “พัฒนากรอบความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง”

สติมสันระบุในรายงานว่า สถาบันหวังว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะใช้ข้อมูลในรายงานมี่เผยแพร่ใหม่นี้ ช่วยในการดำเนินงานร่วมกับจีน

การศึกษาของ อายส์ออนเอิร์ธ เผยให้เห็นว่าจีนมีอำนาจควบคุมการไหลของน้ำไปสู่ประเทศท้ายน้ำในระดับสูง หากมีการเก็บรวบรวมและนำเสนอข้อมูลนี้อย่างสม่ำเสมอและเผยแพร่โดยเปิดกว้างแล้ว อาจนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์แบบใกล้เคียงเวลาจริงและการติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เครื่องมือลักษณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้วางแผนงานภาครัฐในประเทศท้ายน้ำแม่น้ำโขง ผู้บริหารจัดการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธานในลาว เช่น เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งต้องการกระแสน้ำที่เพียงพอและคาดการณ์ได้เพื่อปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน และสำคัญที่สุด ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำไหลที่เกิดจากเขื่อนของจีน”

ด้าน ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน นักวิชาการผู้ติดตามภูมิศาสตร์การเมืองของแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนานจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้เห็นพัฒนาการการทำงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำแม่โขงในการติดต่อประสานงานกับจีนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพน้ำได้ครบถ้วนขึ้น ซึ่งงานด้านนี้ควรเป็นสิ่งที่องค์กรดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของภาระกิจหลัก ประเทศต้นน้ำอย่างจีนและประเทศปลายน้ำของแม่น้ำโขงจะช่วยกันผลักดันกฎระเบียบที่ชัดเจนและเป็นธรรม ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของแม่น้ำโขง-ล้านช้าง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำ

ที่สำคัญ กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ควรต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมออกแบบ และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในลุ่มน้ำ ถึงจะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ของลุ่มน้ำได้ ดร. คาร์ล สรุป

จีนมีบทบาทสำคัญที่สุด

บทวิเคราะห์ลุ่มน้ำโขงของสื่อญี่ปุ่น เจแปนไทม์ ระบุว่าจีนมีบทบาทสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาแล้งลุ่มแม่น้ำโขง ระดับน้ำในชุมชนตอนล่างที่ต้องพึ่งพาประเทศต้นน้ำ

จีนยืนยันว่าประสบภัยแล้งเช่นกัน และการปล่อยน้ำลงแม่โขงตอนล่างเหมือนเป็นการเสียสละ แต่เจแปนไทม์รายงานว่า “เขื่อนของจีนได้เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำท้องถิ่น และเพื่อแสดงความเป็นผู้นำ จีนต้องตระหนักถึงความต้องการของชาติท้ายน้ำ และรับรู้ว่าความต้องการของชุมชนเหล่านั้น มีค่าเทียบเท่าของจีนเอง

รายงานเผยแพร่โดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายงานเผยแพร่โดย ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งคำถามว่า เขื่อนของจีนในลำน้ำโขง เป็นสาเหตุของความแห้งแล้งในช่วงท้ายน้ำจริงหรือไม่ และความสำคัญของการโต้เถียงกันทางวิทยาศาสตร์

ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม ระบุว่า รายงานของอายส์ออนเอิร์ธมีข้อจำกัด เพราะการวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของระดับน้ำ แทนที่จะดูที่ปริมาณน้ำ เป็นการมองภาพของสถานการ์แค่ส่วนเดียว จึงนำไปสู่ “การอ้างที่เกินจริง” ว่าเขื่อนของจีนเก็บกักน้ำฝนที่มีปริมาณเท่ากับทั้งฤดูมรสุม

รายงานของศูนย์ศึกษากาพัฒนาสังคม ระบุ 4 ข้อแนะนำ “เส้นทางที่สร้างสรรค์” ในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำโขง ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ และการแบ่งปันทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง

  1. ทำให้สาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
  2. ข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง ที่มีการอภิปรายอย่างเข้มข้น
  3. การอภิปรายที่ว่า ควรคำนึงถึงความต้องการของคนหลากหลายกลุ่มในสังคม ทั้งชุระดับมชนและระดับประเทศ
  4. สนับสนุนการตัดสินใจตามหลักฐาน ที่เป็นประชาธิปไตย

ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นไปไม่ได้ที่ระบบเขื่อนของจีนจะสามารถกักเก็บน้ำฝนที่มีปริมาณเท่ากับฤดูฝนทั้งฤดู และกลายเป็นสาเหตุหลักของภัยแล้งในปี 2562 แต่ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคมเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ที่ว่า จีนอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์แล้งรุนแรงขึ้น

related