svasdssvasds

สพฉ. จับมือกรมเจ้าท่า เตรียมอุปกรณ์รับมือเหตุฉุกเฉิน วางระบบมาตรฐานหน่วยกู้ชีพทางเรือ

สพฉ. จับมือกรมเจ้าท่า เตรียมอุปกรณ์รับมือเหตุฉุกเฉิน วางระบบมาตรฐานหน่วยกู้ชีพทางเรือ

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมมือ กรมเจ้าท่า เพิ่มขีดความสามารถ วางระบบกู้ชีพ ป้องกันภัยทางเรือ บูรณาการการป้องกันภัยทางน้ำ

วันที่ 10 มิถุนายน 2563  ณ ห้องประชุมบุญเลื่อน  กรมเจ้าท่า เรืออากาศเอกอัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นำทีมผู้บริหารสำนักรับรองและกำกับมาตรฐาน สำนักวิจัยและพัฒนาวิชาการ สำนักสนับสนุนปฏิบัติการฉุกเฉิน เข้าหารือกับกรมเจ้าท่า ในประเด็นเกี่ยวกับ แนวทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ โดยมี นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า และทีมผู้บริหาร ให้การต้อนรับ

ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้กำหนดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สพฉ. และกรมเจ้าท่า ดีเดย์ในวันครบรอบสถาปนากรมเจ้าท่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เพื่อเริ่มการบูรณาการหาแนวทางการดำเนินงานในการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำให้ได้ตามมาตรฐานระดับสากล ขององค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ IMO (International Maritime Organization)

ความร่วมมือนี้ มุ่งเน้นให้เกิดระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ ที่มีมาตรฐาน Medical Assistance ของ IMO และได้คุณภาพตามมาตรฐานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินไทย TEMSA (Thailand Emergency Medical Accreditation) อีกทั้ง มีความต้องการร่วมกันให้มีการจัดระบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมีทรัพยากรพร้อม ได้เกิดการเรียนรู้ บูรณาการการทำงานร่วมกัน จนสามารถกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ถือใช้ในระดับชาติและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อธิบดีกรมเจ้าท่า  กล่าวว่า มีความยินดียิ่งที่จะสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีระบบการันตีได้ว่า ทุกคนที่เข้ามาในผืนแผ่นดินไทย จะได้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานและได้ความคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต โดยจะได้หารือกับ สพฉ. ต่อไปในการกำหนดมาตรฐานให้เรือและคนประจำเรือมีอุปกรณ์รวมถึงมีการอบรมความรู้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน

ด้าน เลขาธิการ สพฉ. กล่าวย้ำว่า สพฉ.มีบทบาทในการกระตุ้นเร้า สนับสนุน ให้เกิดระบบ ให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการทางเรือและผู้เดินเรือถึงเรื่องการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การช่วยชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการร้องขอความช่วยเหลือ อีกทั้งยังสามารถอุดหนุนให้เกิดระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐาน ซึ่งคล้ายกับที่ สพฉ. ได้จัดตั้งระบบส่งผู้ป่วยทางอากาศ Thai Skydoctor เมื่อ 10 ปีก่อน ที่ทำให้ทุกวันนี้สามารถช่วยผู้ป่วยได้ครอบคลุม  ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ทั้งในภาวะปกติและ ภัยพิบัติ จากนี้ไประบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำก็จะมีการพัฒนามาตรฐานเพื่อรองรับการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่นเรือกู้ชีพ  โดยมีงบประมาณจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินที่สามารถอุดหนุน ชดเชย เพื่อเป็นการบริบาลให้ระบบพัฒนายั่งยืนต่อไป

 

ข้อมูลจาก : กลุ่มสื่อสารองค์การ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

related