svasdssvasds

รู้จักพายุโซนร้อน 'นูรี (NURI)' ก่อนแผลงฤทธิ์ทุกภูมิภาคในประเทศไทย!

รู้จักพายุโซนร้อน 'นูรี (NURI)' ก่อนแผลงฤทธิ์ทุกภูมิภาคในประเทศไทย!

'นูรี' เตรียมแผลงฤทธิ์กระทบไทย 13-16 มิ.ย. นี้ พายุโซนร้อนเกิดได้อย่างไร ชื่อที่ตั้งมาจากไหน วันนี้มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับ 'พายุโซนร้อนนูรี'

พายุโซนร้อน หรือ Tropical Atorm อย่างเช่น 'นูรี' หรือ 'พายุโซนร้อนนูรี' ที่กำลังจะนำพาฝนมาตกในประเทศไทยทั่วทุกภาคของประเทศไทย ตามรายงานประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 13-16 มิถุนายนนี้ ก็คือพายุที่ก่อนตัวขึ้นเหนือน่านน้ำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สุตร โดยความเร็วลมจะอยู่ระหว่าง 64-118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่า 100 กิโลเมตร มีความรุนแรงกว่าพายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) แต่ไม่เท่า พายุไต้ฝุ่น ,ไซโคลน หรือเฮอร์ริเคน

ทั้งนี้พายุโซนร้อนดังกล่าวได้ก่อตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นพายุเจ้าประจำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก เป็นลักษณะพายุหมุน แต่ไม่ชัดเจน และรุนแรงขนาดที่มีตาพายุอย่างไต้ฝุ่น หรือเฮอร์ริเคน ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการก่อตัวคือ ความชื้น และความร้อนในอากาศเหนือมหาสมุทรนั่นเอง

โดยส่วนใหญ่เมื่อพายุโซนร้อนขึ้นฝั่งจดลดระดับกำลังลง เหลือเพียงพายุดีเปรสชัน หรือแค่กลุ่มแมฆหมุนวนเท่านั้น ก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด เพราะต้องปะทะกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้รับพลังงานความร้อน ความชื้นจากทะเลอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

แต่ทว่า หากพายุโซนร้อนมีการก่อตัวในมหาสมุทรที่ไกลชายฝั่งมากขึ้น ก็มีโอกาสที่พายุจะสามารถพัฒนาความแรงขึ้นไปจนถึงระดับพายุไต้ฝุ่น หรือเฮอร์ริเคนได้เช่นกันเนื่องจากมีระยะเวลาในการก่อตัว สะสมความร้อน และความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยหลักได้มากขึ้นด้วย

ส่วนการตั้งชื่อพายุนั้น 'พายุโซนร้อนนูรี' เหมือนพายุลูกอื่นๆ ที่จะถูกตั้งชื่อโดยหน่วยงานกรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละภูมิภาค เมื่อพายุมีกำลังความเร็วลมสูงสุดเกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนแล้ว ซึ่งในพื้นที่แถบแปซิฟิคตะวันตก และทะเลจีนใต้ ประเทศไทยเอง ได้ร่วมมือกับอีก 13 ประเทศสมาชิกในคณะกรรมการไต้ฝุ่น และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้แก่

  1. กัมพูชา
  2. จีน
  3. เกาหลีเหนือ
  4. ฮ่องกง
  5. ญี่ปุ่น
  6. ลาว
  7. มาเก๊า
  8. มาเลเซีย
  9. ไมโครนีเซีย
  10. ฟิลิปปินส์
  11. เกาหลีใต้
  12. สหรัฐอเมริกา และ
  13. เวียดนาม ที่จะร่วมกันเสนอ และตั้งชื่อพายุโซนร้อนที่มีขึ้นในแต่ละปี

ชื่อ นูรี (Nuri) นั้นเป็นภาษามลายู (ภาษาราชการของมาเลเซีย) แปลว่า นกชนิดหนึ่งในตระกูลนกแก้ว  ในอดีตเคยใช้ชื่อนี้เรียกพายุมาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2551 และในปี 2557 ซึ่งเป็นพายุที่มีความแรงในระดับพายุไต้ฝุ่น แต่ในปีนี้ (2563) พายุ “นูรี” ได้เริ่มก่อตัวในทะเลฟิลิปปินส์ ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้และเพิ่มความแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันและพายุโซนร้อน

ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาระบุว่า ขณะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะฮ่องกงวันนี้ (13 มิ.ย.) ความเร็วลมสูงสุดของพายุ “นูรี” อยู่ที่ 55.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง และคาดว่าจะเพิ่มความเร็วยิ่งขึ้น และทำให้เกิดฝนตกหนักทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮ่องกงในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.)

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย ได้มีการออกประกาศเตือนเรื่อง 'พายุโซนร้อนโนรี' ฉบับที่ 4 ช่วงเช้าวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีการเตือนว่า พายุโซนร้อน 'นูรี' บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก กําลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง

คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 13-14 มิ.ย. 2563 ลักษณะเช่นนี้ทําให้ในช่วงวันที่ 13-16 มิถุนายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยจะมีกําลังแรงขึ้น ส่งผลทําให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชน บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ทั้งนี้ แม้พายุโซนร้อนจะมีความรุนแรงไม่มากเท่าพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน แต่พายุโซนร้อนก็สามารถสร้างความเสียหายในบริเวณกว้างจากปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ราบลุ่มและบริเวณที่ราบสูงตามเทือกเขาต่างๆ

 

ข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐกิจ

related