svasdssvasds

คณะแพทย์ฯ ศิริราช ทำคลิปสั้น “รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง” “Stroke-ตีบ-ตัน-แตก-ตาย”

คณะแพทย์ฯ ศิริราช ทำคลิปสั้น “รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง” “Stroke-ตีบ-ตัน-แตก-ตาย”

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลตั้งใจทำคลิปนี้ด้วยเวลาแสนสั้น แต่ทำให้เรารู้จักกับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ครบถ้วน มารู้จักกับ Stroke-ตีบ-ตัน-แตก-ตาย และตายทั้งเป็น

 

[embed]https://www.youtube.com/watch?v=mElX_3oDd8M&feature=youtu.be[/embed]

 

โรคหลอดเลือดสมองรักษาได้อย่างไร?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น

- การรักษาในระยะเฉียบพลัน

- การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

- การทำกายภาพบำบัด

 

การรักษาในระยะเฉียบพลันที่มีการศึกษายืนยันว่าได้ผลดีชัดเจนแล้ว ได้แก่

1.การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, t-PA) ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้มีความเสี่ยง กล่าวคือผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6%

2.การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตได้

3.การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute stroke unit) นับเป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการตาย หรือพิการอีกวิธีหนึ่ง

4.การผ่าตัดเปิดกระโหลก (Hemicraniectomy) จะพิจารณาทำเฉพาะในกรณีที่มีอาการรุนแรงและมีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ Middle cerebral atery ในสมองเท่านั้น โดยมีหลักฐานการศึกษาว่าการผ่าตัดดังกล่าวสามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้

 

การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ... ยาต้านเกล็ดเลือดและยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้

 

ยาต้านเกล็ดเลือด

เกล็ดเลือดเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด เมื่อเกล็ดเลือดถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่าง จะเกิดการเกาะกันโดยอาศัยสารเคมีในร่างกายเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นลิ่มเลือดซึ่งสามารถอุดตันหลอดเลือดได้ ยาต้านเกล็ดเลือดจะป้องกันไม่ให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

นอกจากการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดแล้ว ลิ่มเลือดยังสามารถเกิดได้จากการกระตุ้นปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) ยานี้มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด และทำให้เลือดไม่แข็งตัว

 

นอกจากการใช้ยาดังกล่าวแล้ว การให้ยาลดความดันโลหิตและยาลดระดับไขมันในเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง ก็สามารถที่จะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมองได้

ท่านควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องยาเสมอ เพื่อทำความเข้าใจถึงผลของยาที่ท่านได้รับ และท่านควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ถึงแม้ท่านจะรู้สึกว่าร่างกายของท่านดีขึ้นแล้วก็ตาม

 

การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ เมื่อตรวจพบการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง

เมื่อตรวจพบว่า มีการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือด แพทย์สามารถแก้ไขได้ด้วย

- การขยายหลอดเลือดโดยการผ่าตัด (Carotid endarterectomy)

- การถ่างขยายหลอดเลือดโดยการใช้บอลลูนและใส่ขนลวดค้ำยัน (Balloon angioplasty and stent placement)

 

ในกรณีนี้ แพทย์จะเป็นผู้ให้รายละเอียดต่อผู้ป่วยและญาติถึงผลดีผลเสียรวมทั้งความเหมาะสมของการรักษาแต่ละประเภท ดังนั้น ขอให้ท่านหรือผู้ป่วยพูดคุยซักถามถึงรายละเอียด ข้อบ่งชี้ รวมทั้งผลดี และความเสี่ยงของผลแทรกซ้อนของการรักษาแต่ละวิธี

 

การทำกายภาพบำบัด

ความพิการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำกายภาพบำบัด เพราะการทำกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ โดยที่เป็นภาระต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ผลของการทำกายภาพบำบัดนอกจากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติแล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย

 

ตัวอย่างกิจกรรมการทำกายภาพบำบัด

ฝึกการรับประทานอาหาร การเคี้ยวการกลืนอาหาร

- ฝึกการอาบน้ำ การแต่งตัว

- ฝึกการเดิน การใช้รถเข็นด้วยตัวเอง

- ฝึกการพูด การสื่อสาร การใช้ภาษา

- ฝึกความจำและการแก้ปัญหา

- ฝึกการประกอบอาชีพ

- ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องเริ่มการฝึกกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมักจะเริ่มต้นที่โรงพยาบาล และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

related