svasdssvasds

NCI ผุดโปรเจกต์ใหม่ “คัดกรองมะเร็งเต้านมจากเลือด”

NCI ผุดโปรเจกต์ใหม่ “คัดกรองมะเร็งเต้านมจากเลือด”

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: (NCI) จับมือภาคเอกชน เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ด้วยการตรวจเลือด หวังช่วยเพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ลดอัตราการเสียชีวิต ชี้การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมมีประสิทธิภาพจริง แต่ราคาแพงและไม่คุ้มค่าสำหรับภาครัฐในการอุดหนุนให้เป็นบริการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน

 

NCI ผุดโปรเจกต์ใหม่ “คัดกรองมะเร็งเต้านมจากเลือด”

 

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล และหัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า ปัจจุบันมะเร็งเต้านมถือเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง โดยผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ทุกคน จึงแนะนำให้หมั่นสังเกตความผิดปกติ และตรวจสุขภาพเต้านมเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในเบื้องต้นมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การตรวจด้วยบุคลากรทางแพทย์โดยใช้การคลำ และการตรวจแมมโมแกรม

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 วิธียังมีข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองให้กับประชาชน กล่าวคือการตรวจด้วยบุคลากรทางแพทย์โดยใช้การคลำมักมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ต้องใช้ความรู้สึกและความชำนาญเฉพาะตัวของบุคลากรแต่ละคน ผลที่ออกมามักมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ขณะที่การตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยแมมโมแกรมนั้น แม้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน แต่มีต้นทุนสูงไม่คุ้มค่าสำหรับประเทศไทย หากจะนำมาเป็นนโยบายใช้ตรวจคัดกรองให้กับผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป

 

NCI ผุดโปรเจกต์ใหม่ “คัดกรองมะเร็งเต้านมจากเลือด”

 

คำแนะนำเหล่านี้เป็นผลการศึกษาจากประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้มีลักษณะ เนื้อเต้านมไม่หนาแน่น มีส่วนประกอบของไขมันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีความผิดปกติของมะเร็งจะเห็นได้ชัดเจนด้วยการตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว ส่วนผู้หญิงไทยหรือเอเชียมีลักษณะเนื้อเต้านมที่หนาแน่นกว่า มีไขมันน้อยกว่า ทำให้เห็นความผิดปกติของมะเร็งได้ยากขึ้น ดังนั้น ในประเทศไทยมักต้องใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจร่วมด้วย ซึ่งประเทศทางตะวันตกจะใช้การตรวจทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ก็ต่อเมื่อต้องการวินิจฉัยความผิดปกติภายหลังการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมของไทยมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจำเป็นต้องใช้รังสีแพทย์ที่มีจำกัดในการทำอัลตร้าซาวด์

นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยประเมินความคุ้มค่าในการใช้แมมโมแกรม เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมระดับประชากรของประเทศในเอเชียพบด้วยว่า ประเทศที่เหมาะสมใช้วิธีนี้ควรมีอุบัติการณ์ของโรคไม่ต่ำกว่า 45 คนต่อแสนประชากร โดยชาติตะวันตก เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ หรือชาติแถบสแกนดิเนเวียอยู่ที่ประมาณ 100 คนต่อแสนประชากร ขณะที่อุบัติการณ์ของโรคนี้ในประเทศไทยถึงแม้ว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบแล้วยังต่ำกว่าถึง 3-4 เท่า โดยสถิติปี 2555 อยู่ที่ 28.5 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น

 

NCI ผุดโปรเจกต์ใหม่ “คัดกรองมะเร็งเต้านมจากเลือด”

 

สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยี กรมการแพทย์ว่า การลงทุนโดยภาครัฐเพื่อใช้การตรวจแมมโมแกรมคัดกรองมะเร็งเต้านมในระดับประชากร ถือว่ายังไม่มีความคุ้มค่าเพียงพอต่อต้นทุนยังไม่รวมถึงข้อจำกัดเรื่องการมีอุปกรณ์และบุคลากรไม่เพียงพอด้วย

นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้และช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการคัดกรองมะเร็งเต้านมให้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เริ่มโครงการวิจัยพัฒนาวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ ด้วยการตรวจสารบ่งชี้ในเลือดมาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนหลายแห่ง อาทิ บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในสตรี “วาโก้” และบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และยังคงเปิดรับการอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สารบ่งชี้ในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นคนละชนิดกับการตรวจเลือด เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อน มักพบกับมะเร็งที่มีขนาดก้อนใหญ่หรือเป็นระยะท้ายแล้ว ทำให้โอกาสตรวจพบสารบ่งชี้เหล่านี้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นมีน้อยมาก จึงไม่แนะนำให้ใช้เพื่อคัดกรองโรค แต่จะใช้เพื่อติดตามการเกิดโรคซ้ำ หรือดูการตอบสนองในการรักษามากกว่า

“งานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่าง และทดสอบความแม่นยำของสารดังกล่าว หากงานวิจัยประสบผลคาดว่าจะช่วยให้ประเทศไทยมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ ซึ่งหญิงไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี หากพบผลผิดปกติ ค่อยไปตรวจวินิจฉัยด้วยแมมโมแกรมและการตรวจอื่นๆ ต่อไปเพื่อวางแผนในการรักษา ซึ่งจะทำให้เราใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ของไทยได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น สำหรับผู้สนใจสมทบทุนงานวิจัย ติดต่อ ได้ที่โทร. 02-202-6800 ต่อ 1509 "กองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและดูแลผู้ป่วย" โดยนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ” นพ.สมชาย ทิ้งท้าย

 

related