svasdssvasds

ย้อนรอย! สัญญาเช่าพื้นที่แผงค้าหน้า "ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว"

ย้อนรอย! สัญญาเช่าพื้นที่แผงค้าหน้า "ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว"

พื้นที่เจ้าปัญหา ระหว่างกลุ่มผู้ค้า - กรุงเทพมหานคร ย้อนรอย! สัญญา "เช่าพื้นที่" แผงค้าหน้า "ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว"

 

กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหน้าห้างเดอะวัน พาร์ค และหน้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ลุกขึ้นมาถือป้ายประท้วงวอน กรุงเทพมหานครทบทวนคำสั่งห้ามขาย อ้างขายมา 20 ปีให้ความร่วมมือมาโดยตลอด ทางกทม.ประกาศต้องรื้อแผงลอยให้เสร็จภายใน 29 พ.ค.   แต่แล้วกลุ่มผู้ค้าก็ได้ไปยื่นศาลปกครอง ขอชะลอคำสั่งรื้อแผงค้า เช้าวันที่ 28 พ.ค.

ย้อนรอย! สัญญาเช่าพื้นที่แผงค้าหน้า "ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว"

สำหรับพื้นที่เจ้าปัญหา ระหว่างกลุ่มผู้ค้า - กรุงเทพมหานคร ขัดแย้งกันมาเนืองๆ ล่าสุด ห้ามตั้งแผงค้าหน้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว มีการประกาศไปแล้วเมื่อปี 2560 ระบุให้วันที่ 1 ตุลาคม ดีเดย์เพื่อรื้อถอนแผงค้า  ซึ่งกระทรวงคมนาคม ครั้งนั้นมอบให้รฟท.ไปดำเนินการประสานกทม. เพื่อจัดระเบียบทางเท้า เพราะมีประชาชนผู้ใช้ทางเท้าร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า ไม่ได้รับความสะดวก และอาจเกิดอันตรายจากการเดินถนน

ทั้งนี้พื้นที่บริเวณตั้งแต่ทางโค้งลงมาถึงผิวจราจร เป็นพื้นที่ของรฟท. แม้คนทั่วไปเข้าใจว่า ทางเท้าและถนนควรเป็นทางสาธารณะโดยปริยาย รฟท.อ้างว่าไม่เคยอนุญาตให้ผู้ค้าเข้ามาตั้งแผงหรือร้านค้า แต่ก็ไม่มีการขับไล่ผู้ค้า เมื่อเกิดแผงค้า ร้านขายอาหารกว่า 40 ร้านขึ้น มีการลักลอบทิ้งขยะ เศษอาหารลงท่อระบายน้ำจนทำให้อุดตัน มีน้ำท่วมขังทันทีที่ฝนตก ทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนู พาหะนำโรคร้าย  เมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินในการจัดการ รฟท.ต้องมอบหมายให้ กทม.ก่อนถึงจะดำเนินการได้ เพราะข้อร้องเรียน คนเดินเท้าต้องทนทุกข์กับสิ่งที่ หน่วยงานราชการ เอกชน ไม่สามารถทำงานร่วมกัน

ย้อนรอย! สัญญาเช่าพื้นที่แผงค้าหน้า "ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว"

เมื่อย้อนไปดู การใช้ที่ดินดังกล่าว ทำธุรกิจในโครงการของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา มีการเช่าสัมปทานที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว และโรงแรมเซนทาราแกรนด์  ยุคเริ่มแรกของการเช่าที่ดินของเซ็นทรัล เริ่มต้นจากสัญญาสัมปทานเช่าที่ดินพหลโยธินเดิม เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2521ในสมัยของนายสง่า นาวีเจริญ เป็นผู้ว่าฯ รฟท. จนหมดอายุสัญญาวันที่ 18 ธ.ค.2551 รวมเวลา 30 ปี พื้นที่ 47.22 ไร่ หรือ 75,558.65 ตารางวา โดยกำหนดว่าเซ็นทรัลต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ให้ร.ฟ.ท.16 ล้านบาทค่าเช่าปีละ 3 ล้านบาท โดยปีแรกนับแต่วันลงนาม ร.ฟ.ท.จะไม่คิดค่าเช่าที่ดิน หลังจากนั้นตั้งแต่ปีที่ 2,3 และ 4 เซ็นทรัล ต้องชำระค่าเช่าอัตรา 25%,50% และ 100% ตามลำดับของอัตราค่าเช่าที่ดิน และนับตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป เซ็นทรัลต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน เพิ่มขึ้นอัตโนมัติในอัตรา 5% ต่อปีของค่าเช่าครั้งสุดท้าย ในวันครบรอบปีต่อไป จนกว่าจะหมดสัญญาเช่าในวันที่ 18 ธ.ค.2551 และเมื่อครบกำหนดแล้ว อาคาร ,สิ่งก่อสร้าง และระบบต่างๆที่ใช้ในกิจการของโครงการทั้งหมด ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรฟท.

ภายหลังก่อนหมดสัญญาเช่า ปี 2551  ก็มีการเจรจาต่อสัญญาสำเร็จอีกครั้ง ในครั้งนี้ รฟท. ทำสัญญาให้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เช่า ตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 มีการต่อสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี โดยจะมีผลไปจนถึง ปี 2571 รฟท.ได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าและดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา เป็นมูลค่ากว่า  20,000 ล้านบาท

ขณะที่ต่อไปการใช้ที่ดิน รฟท. จะใช้วิธีพิจาณณาตามระเบียบใหม่  โดยการนำมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินมาพิจารณาเพื่อปรับอัตราค่าเช่าให้สอดคล้อง กับสภาพพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งนโยบายของ รฟท. ต้องนำที่ดินมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ที่มีแผนจะเปิดประมูลใหม่หรือต่อสัญญาเช่า นำเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (PPP) ตามนโยบายรัฐบาล

related