svasdssvasds

กทม.แจง ปม ทางขึ้น-ลง รถไฟฟ้ากินพื้นที่ทางเท้า เป็นไปตามมาตรฐาน

กทม.แจง ปม ทางขึ้น-ลง รถไฟฟ้ากินพื้นที่ทางเท้า เป็นไปตามมาตรฐาน

กทม. ชี้แจง การก่อสร้างทางขึ้น - ลงรถไฟฟ้าบริเวณทางเท้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดผลกระทบ จากการเวนคืนที่ดิน ซึ่งขนาดความกว้างของทางขึ้น – ลง ที่ รฟม. ก่อสร้างเป็นไปตามแบบมาตรฐานในการอพยพฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุ

นายสมชาย เดชากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวชี้แจงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ กทม. ปรับแบบและลดขนาดบันไดทางขึ้น – ลงรถไฟฟ้าที่มีการก่อสร้างบริเวณทางเท้าว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่ง รฟม. เป็นผู้ดำเนินการงานโครงสร้างพื้นฐานและกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ในส่วนของการก่อสร้างทางขึ้น – ลงสถานีรถไฟฟ้า จำเป็นต้องมีการใช้พื้นที่ทางเท้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการในการเข้าถึงและลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนจากการเวนคืนที่ดิน ซึ่งขนาดความกว้างของทางขึ้น – ลง ที่ รฟม. ก่อสร้างเป็นไปตามแบบมาตรฐานในการอพยพฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้กำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างของ รฟม. บนทางเท้าสาธารณะ ต้องมีพื้นที่ทางเท้า เหลือขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 กฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2555 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2556

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะตรวจสอบตำแหน่งที่มีการร้องเรียนและประสาน รฟม. ว่ามีการก่อสร้างเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

related