svasdssvasds

มวลดินภูทับเบิกเคลื่อนตัวทั้งผืน สเกลใหญ่มาก 4-5 กิโลเมตร

มวลดินภูทับเบิกเคลื่อนตัวทั้งผืน สเกลใหญ่มาก 4-5 กิโลเมตร

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

จากกรณีที่ทางหลวงหมายเลข 2331 ตอน โจ๊ะโหวะ - อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ช่วงระหว่าง หลักกิโลเมตรที่ 9+300 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 10+650  ซึ่งเป็นถนนทางขึ้นภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เกิดการสไลด์ตัว และถนนทรุดตัว มาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่าครึ่งเดือนแล้ว การทรุดตัวและการแตกร้าวของถนนสายดังกล่าว รวมทั้งมวลดินขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2 แสนตารางเมตร ที่มีโอกาสจะสไลด์ตัวยกทั้งแผงได้ตลอดเวลา ถ้าหากมีฝนตกลงมาซ้ำอีก ก็ยังคงทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง บางจุดมีการทรุดตัวไปแล้วถึงเกือบ 3 เมตร แต่เริ่มลดความรุนแรงและช้าลง

ขณะที่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ ทีมวิศวกรจากกรมทางหลวง ได้นำแท่นเจาะเคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่อง มาทำการติดตั้งเพื่อทำการขุดสำรวจเก็บตัวอย่างชั้นดินใต้พื้นดิน เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ถึงการสไลด์ของดินบริเวณดังกล่าวว่า มีแนวโน้มการสไลด์ หรือการเคลื่อนตัวของชั้นดินมากน้อยเพียงใด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหา และการออกแบบก่อสร้างปรับปรุงถนนทางขึ้นภูทับเบิกต่อไป

นายลลิต สวัสดิมงคล นักธรณีวิทยาเชี่ยวชาญ สำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ ส่วนธรณีวิศกรรม กรมทางหลวง กล่าวว่า ที่เห็นถนนพังเป็นจุดๆ แต่ที่จริงแล้วมันเกิดการเคลื่อนตัวทั้งมวลใหญ่บริเวณนี้เลย เจ้าหน้าที่ก็เลยต้องลุยเข้าไปในป่าเพื่อหารอยแตกว่ามันลามไปทางไหน เพราะรอยแตกมันจะบอกเราได้ว่ามันเริ่มเคลื่อนตัวที่ตรงไหนและจะหยุดเคลื่อนตัวที่ตรงไหน การสำรวจหาข้อมูลรอยแตกและข้อมูลการขุดเจาะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งขณะนี้พบรอยแตกเคลื่อนตัวที่บริเวณนี้เป็นสเกลที่ใหญ่มาก 4-5 กิโลเมตร ตั้งแต่ หลักกิโลเมตรที่ 8 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 11 โดยจะอยู่ในกลุ่มทางโค้งในช่วงหลักกิโลเมตรดังกล่าวเกือบทั้งหมด โดยรอยแตกที่เคลื่อนตัวจะขึ้นไปถึงที่ชายหมู่บ้านดอยน้ำเพียงดิน และเป็นการเคลื่อนตัวไปทั้งผืน ซึ่งเป็นสเกลที่ใหญ่มาก

ส่วนการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า การทรุดตัวของถนนที่บริเวณดังกล่าวในวันนี้เริ่มทรงตัว แต่เนื่องจากยังมีฝนตกเป็นระยะๆ จึงทำให้ทางเจ้าหน้าที่ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะที่แท่นขุดเจาะสำรวจซึ่งนอกจากจะเจอปัญหาอุปสรรคกับก้อนหินขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้พื้นดินจนต้องย้ายสถานที่ติดตั้งแท่นขุดเจาะแล้ว ยังตรวจพบปริมาณน้ำใต้ดินที่มีปริมาณมากผิดปรกติ จนเป็นปัญหาอุปสรรคทำให้การขุดเจาะสำรวจล่าช้าลง เนื่องจากต้องหล่อปูนซีเมนต์กันน้ำในหลุมขุดเจาะให้แล้วเสร็จเสียก่อน จึงจะสามารถเจาะสำรวจต่อไปได้ คาดว่าน่าจะใช้เวลาราว 2 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ

related