svasdssvasds

เลขาสพฉ.ชี้! รถพยาบาลขนยาบ้า ไม่ใช่รถในระบบของสพฉ.

เลขาสพฉ.ชี้! รถพยาบาลขนยาบ้า ไม่ใช่รถในระบบของสพฉ.

สพฉ.แจงรถพยาบาลขนยาบ้าไม่ใช่รถที่อยู่ในระบบของสพฉ. เผยถูกยุติการรับรองไปเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะในการทำงาน ไม่สนับสนุนรถที่ทำผิดกฎหมายในทุก ๆ กรณี

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ออกมาระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่มีข่าวตำรวจได้จับกุมรถพยาบาลกลุ่มหนึ่งที่ขนยาเสพติด โดยใช้รถพยาบาลเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่นั้น ว่าจากข้อมูลที่เรารับทราบจากข่าวและจากสื่อมวลชนและเราได้รตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่ารถคันที่ใช้ก่อเหตุนั้นไม่ใช่รถที่อยู่ภายใต้ระบบของ 1669 โดยจะมีรถอยู่ 1 คันที่ติดสติ๊กเกอร์สีเขียวที่เหมือนผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งเราเคยรับรองรถคันดังกล่าวจริง และรถคันดังกล่าวเป็นรถหน่วยเสริมของท้องถิ่นแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นรถของบริษัทเอกชนที่ทางท้องถิ่นแห่งนั้นได้จ้างให้มาดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ โดยรถคันดังกล่าวได้ถูกยุติการรับรองไปเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะในการทำงานต่อเพียงแต่ว่าเขาไม่เอาสติ๊กเกอร์ ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นรถที่ยังทำงานในระบบ

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ ขอยืนยันว่าแม้รถคันดังกล่าวจะอยู่นอกระบบของสพฉ. แต่นโยบายของ สพฉ.ชัดเจน คือไม่สนับสนุนการทำผิดกฎหมายในทุก ๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือการขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ในช่วงที่ไม่ได้มีการไปรับหรือส่งผู้ป่วย ยิ่งเป็นการขนยาเสพติดยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับได้ เพราะผิดทั้งกฎหมายบ้านเมือง และผิดทั้งจริยธรรม ที่นำรถที่จะต้องใช้ส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาทำเช่นนี้

โดยที่ผ่านมา สพฉ.ได้ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานจัดตั้งสายด่วน 1669 ขึ้นมา และไปการทำงานไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยภายในระบบของ 1669 นั้นจะมีหน่วยปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับ 1669 ซึ่งหมายความว่าจะมีรถที่อยู่ในระบบปฏิบัติการในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในส่วนของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลของเอกชน ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล และในส่วนของมูลนิธิสมาคม นิติบุคคลต่างๆ ซึ่งจากการขึ้นทะเบียนหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน 1669 ของเราทั่วประเทศจะมีทั้งหมด 8,700 กว่าหน่วย และเรามีรถปฏิบัติการฉุกเฉินที่อยู่ในระบบและผ่านการจดทะเบียนตามมาตรฐานแล้ว 10,000 คัน

 

การตรวจรับรอง "รถฉุกเฉิน" ต้องจดทะเบียนถูกต้อง ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้รถฉุกเฉินที่จะผ่านการตรวจรับรองจะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ ห้ามดัดแปลงและต้องเป็นป้ายทะเบียนสีขาวดำ ถ้าเกิดเป็นรถตู้ประเภทรถที่เกิน 7 ที่นั่ง จะเป็นทะเบียนขาวฟ้า อันนี้สามารถที่จะมีเตียงเพื่อใช้รองรับผู้ป่วยได้แต่ที่นั่งต้องเกิน 7 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่ในสภาพปัจจุบันตามความเป็นจริง รถตู้เวลาเป็นเก้าอี้นั่งก็จะเกิน 7 ที่นั่งก็จะเป็นทะเบียนขาวฟ้า แต่ว่าเวลาไปดัดแปลงก็จะต้องเป็นทะเบียนขาวดำ ซึ่งต้องไปจดทะเบียนหรือไปขออนุญาตจากรมการขนส่งให้เรียบร้อย ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เกี่ยวกับสพฉ. แต่ว่าเป็นส่วนที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินหรือว่ารถฉุกเฉินเหล่านั้นจะต้องไปดำเนินการมาให้เรียบร้อย โดยนอกจากรถจะต้องเรียบร้อยแล้ว บนรถเองก็จะต้องมีคน จะต้องมีพาหนะ มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในนั้นครบตามมาตรฐาน เมื่อผู้ขออนุญาตดำเนินการมาเรียบร้อยแล้ว เราถึงจะรับรองมาตรฐานในการออกปฏิบัติงาน เพื่อที่จะไปสู่อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องการขออนุญาตจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะใช้สัญญาณไฟวับวาบ และการใช้งานเสียงไซเรน ซึ่ง สพฉ.ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่อนุญาตในการใช้เสียงไซเรน แต่เป็นเรื่องของตำรวจ ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องของมาตรฐานในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนรถฉุกเฉินแล้วนั้นจะมีการบูรณาการหลายกฎหมายเข้ามาด้วยกัน ซึ่งสพฉ.จะเป็นหน่วยที่ควบคุมกำกับและรับรองเพื่อที่จะส่งไปที่ตำรวจ ให้เป็นผู้ที่อนุญาต

related