svasdssvasds

จากเมืองกรุงสู่อุทัยธานี ส่องบ้านใหม่ของสุนัขจรจัด

จากเมืองกรุงสู่อุทัยธานี ส่องบ้านใหม่ของสุนัขจรจัด

ติดตามชีวิตสุนัขจรจัดจากซอยชินเขต หลังย้ายไปบ้านใหม่ที่ศูนย์พักพิงอุทัยธานี

กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โดยมีนางจินดารัตน์ ชโยธิน โฆษกของกรุงเทพมหานคร นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมศูนย์พักพิงสุนัข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เพื่อติดตามความเป็นอยู่ของสุนัขจรจัดกว่า 150 ตัว ที่ย้ายไปจากชุมชนซอยชินเขต เขตหลักสี่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยมีนายสัตวแพทย์ศิวะ ไม้สนธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน พร้อมทั้งนำชมคอกสุนัขภายในศูนย์ฯ ร่วมพูดคุยกับลุงแก้ว-ป้าขวัญคนเลี้ยงสุนัข ซึ่งในวันนี้ได้มีการสาธิตฝึกสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่ง และการตัดขนสุนัขโดยจิตอาสาคนรักสุนัขด้วย

สำหรับศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (อุทัยธานี) มีขนาดพื้นที่ 200 ไร่ ประกอบด้วยคอกสุนัข 16 โดม รองรับได้โดมละ 500 ตัว รวม 8,000 ตัว ปัจจุบันมีสุนัขอยู่ 4,871 ตัว โดยศูนย์ฯจะให้ที่พักพิงสุนัขจรจัดจากกรุงเทพมหานครจนหมดอายุขัย พร้อมทั้งดูแลและฟื้นฟูสุขภาพสุนัขภายในศูนย์ฯ ตลอดจนส่งเสริมให้มีผู้รับสุนัขไปอุปการะเลี้ยงดูต่อไป

นายสัตวแพทย์ศิวะ กล่าวว่า จากสถิติพบว่ามีเรื่องร้องเรียนสุนัขจรจัดตามพื้นที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ปีละ 4,500 - 5,000 คำร้อง และยังไม่มีแนวโน้มลดลง และยังพบปัญหาการนำสุนัขไปปล่อยตามพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด ตลาด อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดข้อขัดแย้ง โต้เถียง ระหว่างคนรักสัตว์กับผู้ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่บ่อยครั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้จับสุนัขจรจัดออกจากพื้นที่สาธารณะมาไว้ที่ศูนย์ควบคุมสุนัข เขตประเวศ ปีละ 6,000-8,000 ตัว

มีประชาชนเลี้ยงสุนัขปล่อยปละละเลยจนสุนัขถูกจับ และมาติดต่อรับคืนปีละ 2,000 – 2,500 ตัว และส่งต่อสุนัขจรจัด ไปเลี้ยงดูที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด (อุทัยธานี) ปีละ 3,500 – 4,000 ตัว ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค. – ต.ค. 61 พบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในเขตกรุงเทพมหานคร 17 ตัวอย่าง โดยพบในสุนัข 16 ตัวอย่าง และแมว 1 ตัวอย่าง แต่ในช่วง 2 ปีนี้ไม่พบคนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพมหานคร (รายสุดท้าย ก.ย. 59) ในขณะที่ปี 2561 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ 18 ราย

[gallery columns="1" size="full" ids="383370,383371,383372,383373,383374,383375"]

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีนโยบายให้เร่งรัดแก้ไข โดยล่าสุดได้ให้กรุงเทพมหานครจัดประชุม 50 สำนักงานเขต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และชมรมคนรักสัตว์ เพื่อร่วมหารือในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลจริง

โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้เขตฯ จัดทำแผนบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด พร้อมทั้งสำรวจจำนวนสุนัขจรจัดในแต่ละพื้นที่ หากพบว่าไม่มีเจ้าของ ไม่มีคนรับดูแล เป็นสุนัขพลัดหลงตามหาเจ้าของไม่ได้ หรือสุนัขที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ก็ให้จับไปบำบัดพักฟื้นที่ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ เพื่อคัดกรองโรค ฉีดวัคซีน ทำหมัน ให้เรียบร้อย ก่อนจะขนย้ายไปที่ศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี อีกทั้งให้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ 50 เขต

เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือจับสุนัขจรจัดอย่างเพียงพอและเข้าถึงพื้นที่ได้เร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะและความชำนาญมีจำนวนน้อย ทำให้ประชาชนที่ร้องขอเข้ามาต้องรอคิวนาน เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อเกิดข่าวสุนัขจรจัดกัดประชาชนในแต่ละครั้ง ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับพี่น้องประชาชนในวงกว้าง ซึ่งกทม.ไม่เคยนิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พยายามแก้ไขปัญหา

โดยมุ่งเน้นการป้องกันเป็นหลัก ด้วยการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีการออกหน่วยสัตวแพทย์ให้บริการ ตั้งแต่ ม.ค.- ต.ค.61 (หน่วยทำหมัน หน่วยฉีดวัคซีนและหน่วยวันเสาร์) ฉีดวัคซีนโรคป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปีละ 300,000 โด๊ส และทำหมันฟรี ปีละ 26,615 ตัว การทำหมันสุนัขจรจัดเพื่อตัดวงจรไม่ให้มีการขยายพันธุ์ และการจับสุนัขจรจัดไว้ที่ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศเพื่อดูอาการ และฟิ้นฟู ทำหมัน ชีดวัคซีน

จากนั้นส่งไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงสุนัขทัพทันจนกว่าจะสิ้นอายุขัย โดยกทม.ยืนยันว่าไม่ได้จับสุนัขไปฆ่าหรือทรมาน แต่นำไปดูแล ให้บ้าน ให้ที่พักพิง และยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขถูกทารุณกรรมจากคนที่ไม่รักสุนัขด้วย นอกจากนี้ยังมีสุนัขหลายตัวได้รับการฝึกให้มีระเบียบวินัย เพื่อรอเจ้าของใหม่ที่พร้อมจะรับไปดูแลอีกด้วย

related