svasdssvasds

เปิดแผนบริหารจัดการน้ำภาคอีสานตอนบน

เปิดแผนบริหารจัดการน้ำภาคอีสานตอนบน

ในช่วงฤดูฝนปีนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มั่นใจว่า ทุกพื้นที่ในภาคอีสานตอนบนที่ถูกน้ำท่วม จะกลับเป็นปกติในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ พร้อมเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่อง หลังพบเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีน้ำไม่ถึงร้อยละ 60

เปิดแผนบริหารจัดการน้ำภาคอีสานตอนบน

 

การลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิตร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นการตอกย้ำถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำหลาก

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่ จ.นครพนม และ สกลนคร ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ทั้งจากปริมาณน้ำฝนจากพายุต่างๆที่พาดผ่านประเทศไทย ภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งช่วงฤดูฝน รวมไปถึงระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้น

จากการบริหารจัดการน้ำร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบน้ำ ภาพรวมของประเทศ โดยมี สทนช. เป็นแกนหลักในการประเมิน ตัดสินใจและเฝ้าติดตามสถานการณ์แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง

ทำให้การวางระบบการผันน้ำ และการระบายน้ำในพื้นที่นั้นเป็นไปอย่างคล่องตัว ขณะที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับทราบถึงข้อมูลข่าวสารและแผนการเตรียมการในด้านต่างๆ

โดยที่ สทนช.ยืนยันว่า พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมภาพรวมของภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำก่ำแห่งนี้ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในช่วงต้นเดือน ตุลาคม

และจากข้อมูลปริมาณน้ำเก็บกักของอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แม้บางแห่งจะมีปริมาณน้ำที่เต็มความจุอ่าง แต่ยังคงมีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี และ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

ที่มีปริมาณน้ำเก็บกัก ไม่ถึงร้อยละ 60 ขณะที่จากการตรวจสอบของ สทนช.พบว่า อ่างเก็บน้ำ 21 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักไม่ถึงร้อยละ 30

จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ สทนช.จะต้องประสานการทำงานร่วมกันกับทุกหน่วยงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น หลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้

อย่างไรก็ตามขณะนี้ เขื่อนเก็บน้ำและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้มีการปรับแผนการระบายน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

โดยคงไว้ซึ่งการรักษาระบบนิเวศ,การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและภาคการเกษตร ตลอดทั้งช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการจัดทำแผนทำการบินฝนหลวง

ในพื้นที่ที่จะต้องทำทันที เพื่อให้ภาคอีสานตอนบนนั้นมีน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

related