svasdssvasds

กลุ่มเสี่ยง! "เบาหวาน" ไม่ใช่เรื่องกินอย่างเดียว แต่เกิดจาก "การนอน" ด้วย

กลุ่มเสี่ยง! "เบาหวาน" ไม่ใช่เรื่องกินอย่างเดียว แต่เกิดจาก "การนอน" ด้วย

งานวิจัยชี้ นอนดึกตื่นสาย–นอนหลับๆ ตื่นๆ เสี่ยงโรคเบาหวาน จากโครงการศึกษาวิจัยอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือดกับ HbA1c ในผู้ที่มีภาวะ Pre-diabetes

ผศ.ดร.พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือดกับ HbA1c ในผู้ที่มีภาวะ Pre-diabetes กล่าวว่า การวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างข้อมูลในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนมิถุนายน 2560 จำนวน 1,720 คน

“คำถามหนึ่งที่พบได้บ่อยจากผู้ที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด 100-109 mg/dL กับ 110-125 mg/dL ว่าจะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานได้มากน้อยต่างกันอย่างไร ซึ่งแพทย์ก็จะบอกได้เพียงมีความเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมากเท่านั้น ในการศึกษาจึงได้เปรียบเทียบอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานในผู้ที่มีค่าน้ำตาลในเลือด ระหว่าง 100-109 mg/dL กับ 110-125 mg/dL พบว่า ในระยะเวลา 2 ปี ผู้ที่มีค่าน้ำตาลในเลือด 100-109 mg/dL กับ 110-125 mg/dL มีอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวาน คิดเป็นร้อยละ 3 กับร้อยละ 8 ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น

กลุ่มเสี่ยงจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ควบคุมอาหารหวาน มัน เค็ม ป้องกันไม่ให้ค่าน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเลี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต” นักวิจัย กล่าว

ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเกี่ยวกับการนอนหลับ และระดับ HbA1C พบว่า ในคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ คนที่นอนดึกตื่นสาย รวมถึงคนนอนไม่เพียงพอหรือนอนต่ำกว่า 6 ชั่วโมง จะมีระดับน้ำตาลสะสมในเลือดมากกว่าคนที่เข้านอนเร็วอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเข้านอนผิดเวลาธรรมชาติ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา ผศ.ดร.พญ.ธัญญรัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเข้านอนสายหรือเข้านอนช้า เช่น เข้านอนตี 3 ไปตื่นนอนตอน 11 โมงถึงเที่ยงวัน แม้คิดว่าได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนที่เข้านอนเร็ว

นอกจากนี้คนที่ทำงานเป็นกะ คนที่นอนไม่ต่อเนื่อง เช่น นอนหลับๆตื่นๆ ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากร่างกายของมนุษย์จะทำงานสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ หรือ Human Biological Clock ซึ่งเป็นระบบสำคัญของร่างกายในการควบคุมวงรอบการหลับ-ตื่น และควบคุมการหลั่งฮอร์โมน ตลอดจนควบคุมระดับอุณหภูมิร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น คนที่นอนตื่นสาย พักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติไปและส่งผลต่อการทำงานของตับอ่อนที่แย่ลง ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ จึงแนะนำว่าควรพักผ่อนโดยเข้านอน 2-3 ทุ่ม แล้วตื่นนอนเวลา 6 โมง ให้สัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ”

สถานการณ์ "เบาหวาน" เบาหวาน เป็นโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในประชากรไทย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2557) โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบความชุกของเบาหวานในประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 สัดส่วนของผู้ป่วยเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31.2 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 43.1 ในปี 2557

ทั้งนี้ การเจ็บป่วยจากโรคเบาหวานจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เนื่องจากจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับร่างกายและมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคไตวายเรื้อรัง โรคปลายประสาทตาและจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

related