svasdssvasds

จริงหรือ? สมุนไพรบุก "ลดน้ำตาล-คุมน้ำหนัก"

จริงหรือ? สมุนไพรบุก "ลดน้ำตาล-คุมน้ำหนัก"

สงสัยมานาน บุกคืออะไร ทำไมมีสรรพคุณมากมาย ไขข้อข้องใจกินแล้วไม่อ้วนจริงหรือ?

มาค้นหาบุก พืชสมุนไพรที่ไม่ธรรมดาไปด้วยกัน  จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน มีความสูงของต้นประมาณ 50-150 เซนติเมตร หัวที่อยู่ใต้ดินนั้นมีขนาดใหญ่ ลักษณะของหัวเป็นรูปค่อนข้างกลมแบนเล็กน้อย หรือกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 เซนติเมตร ผิวเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ลำต้นและกิ่งก้านมีลักษณะกลมใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวมีลายแต้มสีขาวปะปนอยู่

สรรพคุณ ของ "บุก"

  1. หัวบุกมีรสเผ็ด เป็นยาร้อน มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อม้าม ตับ และระบบทางเดินอาหาร มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด (หัว)
  2. ใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง ด้วยการแยกแป้งจากส่วนที่เป็นเนื้อทราย แล้วชงกับน้ำดื่ม โดยให้ใช้แป้ง 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว นำมาชงกับน้ำดื่มก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงวันละ 2-3 มื้อ
  3. หัวใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็ง (หัว)
  4. ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น (หัว)
  5. ช่วยแก้อาการไอ (หัว)
  6. หัวใช้เป็นยากัดเสมหะ ละลายเสมหะ ช่วยกระจายเสมหะที่อุดตันบริเวณหลอดลม (หัว)
  7. หัวบุกมีรสเบื่อคัน ใช้เป็นยากัดเสมหะเถาดาน และเลือดจับกันเป็นก้อน (หัว)
  8. หัวนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคท้องมาน (หัว)
  9. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)
  10. ช่วยแก้ประจำเดือนไม่มาของสตรี (หัว)ช่วยขับระดูของสตรี (ราก)
  11. หัวนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคตับ (หัว)
  12. ใช้แก้พิษงู (หัว)
  13. ใช้เป็นยาแก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (หัว)
  14. หัวใช้หุงเป็นน้ำมัน ใช้ใส่บาดแผล กัดฝ้าและกัดหนองได้ดี (หัว)บางข้อมูลระบุว่ารากใช้เป็นยาพอกฝีได้ (ราก)
  15. ใช้แก้ฝีหนองบวมอักเสบ (หัว)
  16. หัวใช้เป็นยาแก้ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว (หัว)

"บุก" มีประโยชน์อย่างไร ? 

หัวบุกไปทำเป็นอาหารได้ทั้งคาวและหวานเช่นเดียวกับเผือก เช่น แกงบวชมันบุก แกงอีสาน นำไปทอดหรือใส่ในแกงกะหรี่ หรือจะนำมาฝานเป็นแผ่นแล้วนำมานึ่งหรือย่างกินเป็นขนมบุก ส่วนต้นอ่อนที่ปอกเปลือกออกแล้ว ใบอ่อน และก้านใบอ่อนก็สามารถนำมาทำอาหารคล้าย ๆ กับบอนได้ เช่น แกงส้ม แกงเลียง ห่อหมก หรือนำมาต้มลวกจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ (ก่อนนำมาปรุงเป็นอาหารต้องเอาไปต้มก่อน โดยใส่ลงไปตอนที่น้ำกำลังเดือดเพื่อให้พิษหมดไป) แต่ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมรับประทานกันแล้ว เนื่องจากขั้นตอนก่อนนำมาปรุงเป็นอาหารนั้นยุ่งยากเกินไป แต่ สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวาน บุกสามารถช่วยควบคุมหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (เนื่องจากไปช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคสในระบบทางเดินอาหาร) และบุกยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยระหว่างพักฟื้น เป็นอาหารที่ช่วยดูดสารพิษ ขจัดไขมันในเลือด และปรุงเป็นอาหารรักษาสุขภาพ

เมื่อทานหัวบุกเป็นประจำจะ พบว่าจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยลดน้ำหนัก  เพราะสารกลูโคแมนแนนที่พองตัวจะไปห่อหุ้มอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ไม่ให้สัมผัสกับน้ำย่อย จึงใช้ในการควบคุมน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ยังช่วยดูดซับไขมันและกรดน้ำดี และขับถ่ายออกนอกร่างกาย จึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ บุกยังช่วยในการขับถ่ายและระบาย เนื่องจากการพองตัวของกลูโคแมนแนนในทางเดินอาหาร จะไปกระตุ้นทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ให้เกิดการบีบตัวขับกากอาหารที่คั่งค้างอยู่ออกมา จึงช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้

ปัจจุบันการบริโภคไม่ได้ยุ่งยากเหมือนในอดีต เพราะได้มีการนำหัวบุกหรือแป้งบุกมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น วุ้นเส้นบุก, เส้นหมี่แป้งหัวบุก, วุ้นบุกก้อน, ขนมบุก นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน และลดไขมันในเลือด

 

ที่มา :  หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) , หนังสือสมุนไพรไทย

related