svasdssvasds

อาจารย์จุฬาฯบอกเอง "กล่องโฟมใส่อาหาร ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ

อาจารย์จุฬาฯบอกเอง "กล่องโฟมใส่อาหาร ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ

ความเชื่อเรื่อง "กล่องโฟม ใส่อาหาร ก่อมะเร็ง" นี่ ไม่หายไปแน่ๆ เลย ถ้าหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงโรงพยาบาลจุฬา สภากาชาดไทย ยังพยายามจะป้อนให้กับประชาชนอยู่เรื่อยๆ

เพื่อแก้ไขความเข้าใจ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจกแจงว่า โปสเตอร์ใหม่ต่อต้านกล่องโฟม อันล่าสุด ออกมาช่วงนี้ แต่ก็ใช้เนื้อหาเดิมๆ ไม่เคยเปลี่ยนเลย ... คือ ถ้าบอกว่า จะให้เลิกใช้เพราะเป็นปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมจะไม่บ่นเลยนะ แต่ถ้าบอกว่า "กินทุกวัน วันละ 1 มื้อ ติดต่อกัน 10 ปี โอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น 6 เท่า" เนี่ย ขอเถียงตายเลย จากเนื้อหาที่เคยเขียนไว้ มาเรียบเรียงให้ดูอีกที

1. การรณรงค์แบบนี้ เป็นการใช้วิธีการที่เป็น pseudo science มาหลอกให้คนหวาดกลัว โดยพยายามอ้างถึงอันตรายจากสาร "สไตรีน โมโนเมอร์" หรือ โมเุลกุลเดี่ยวๆ ของสารสไตรีน ว่ามีอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้ต่อร่างกาย

สารสไตรีนนั้น จริงๆ ก็มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในอาหารและเครื่องดื่มที่เรากินกัน โดยมักเป็นพวกที่มีกลิ่นหอม อย่างผลไม้ต่างๆ และกาแฟ เวลาบริโภคเข้าไปตามปรกติ ก็ย่อยสลายได้ ไม่ได้จะสะสมในร่างกาย

แต่ที่บอกกันว่า เป็นสารอันตราย หรือจัดระดับโอกาสในการก่อมะเร็งของมันไว้ที่ระดับ 2B นั้น ก็เป็นแค่ผลการศึกษาพบในสัตว์ทดลอง ยังไม่มีการยืนยันในคน และจะต้องได้รับเป็นปริมาณมากๆ ถึงจะเป็นพิษก่อมะเร็ง เช่น คนที่ทำงานในโรงงานผลิตสารพวกนี้

2. แต่กล่องโฟมนั้น เป็นพลาสติกพวก "โพลีสไตรีน" ซึ่งเป็นสารโพลีเมอร์ของสารสไตรีนโมโนเมอร์ มาเรียงต่อกันอีกที และเมื่อมันมาจับกันเป็นโพลีสไตรีนแบบกล่องโฟมแล้ว มันจะเสถียรสูงมากกกก ทนกรดทนด่างได้ดี ทนความร้อนดี-ไม่ละลายน้ำร้อน-แต่อาจจะบิดเสียรูปทรงไป จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก และได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์กรทางอาหารทั่วโลก

3. ปริมาณสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่อาจจะมีตกค้างหลังการเป่าขึ้นรูปกล่องโฟมนั้น มีอยู่น้อยมากๆๆ ตามมาตรฐานการผลิต ... แถม จริงๆ แล้ว กล่องโฟมนั้น มีเนื้อของพลาสติกโพลีสไตรีนอยู่เพียงแค่ 5% และเป็นอากาศถึง 95% จากการเป่าขึ้นรูป น่าจะยิ่งเห็นภาพว่ามันมีสารสไตรีนโมโนเมอร์อยู่น้อยมากๆๆ จริง

4. ถ้ากังวลว่า กล่องโฟมโพลีสไตรีนนำมาใส่อาหารแล้ว ความร้อนหรือความเป็นกรดด่างจะทำให้สไตรีนโมโนเมอร์หลุดออกมาอยู่ในอาหารได้นั้น ... งานวิจัยที่มีการทดสอบกัน เช่น เอาโฟมโพลีสไตรีนไปใส่น้ำร้อนๆ ใส่อาหารร้อนๆ พบว่า มีสารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาเพียงแค่ประมาณ 1 ในพันเท่าของเกณฑ์ที่กำหนดต่อวันเท่านั้น ... พูดง่ายๆ คือต้องกินอาหารจากกล่องโฟมเป็นพันกล่องต่อวัน ถึงจะถึงจุดที่กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกิน

อาจารย์จุฬาฯบอกเอง "กล่องโฟมใส่อาหาร ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ

นางสาวจารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล จาก สำนักคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า บอกว่า "แม้จะมีโอกาสที่สารสไตรีนจะหลุดออกมา แต่ก็ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรง เนื่องจากองค์ประกอบของกล่องโฟมไม่ได้มีสารสไตรีนเดี่ยวๆ "

5. จากงานเสวนาเรื่อง "ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ใช้พลาสติกถูกวิธี ชีวีปลอดภัย" เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 59 โดยสถาบันพลาสติก ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของพลาสติก ทั้งจากสถาบันฯ และจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่างเห็นพ้องกันว่า ไม่ได้มีหลักฐานแต่อย่างไรว่าการใช้กล่องโฟมใส่อาหารนั้นจะก่อมะเร็ง ... ผลการวิเคราะห์ตรวจกล่องโฟมที่จำหน่ายอยู่นั้น เมื่อทดสอบกับอาหาร ก็ไม่ได้มีสารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาเยอะอย่างที่เคยอ้างกัน ... และก็ไม่พบว่าจะมีปริมาณสารสไตรีนโมโนเมอร์ตกค้างจากการผลิต ในระดับที่น่ากังวลแต่อย่างไร ปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งเกณฑ์ของไทยและของนานาชาติ อยู่มาก

6. กรณีที่ชอบยกขึ้นมาอ้างกันว่า "กินอาหารใส่กล่องโฟม ทุกวัน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้น 6 เท่า" นั้น ไม่ได้มีที่มาที่น่าเชื่อถือแต่อย่างไร โดย นายแพทย์ดนัย ธีวันดา จากกรมอนามัย ก็เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า "ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันอันตรายจากการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร การออกมารณรงค์ 'เลิกใช้กล่องโฟม' เป็นเพียงคำแนะนำด้านสุขภาพเท่านั้น"

ส่วนที่ในโปสเตอร์รณรงค์เลิกใช้กล่องโฟม ได้อ้างว่า ที่มาของเรื่องนี้มาจาก นายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ นั้น ผมถือว่าไม่ควรจะใช้ความเห็นของนายแพทย์ท่านนี้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิง เนื่องจากท่านเป็นประธานบริษัทที่ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติ หรือพวกกล่องชานอ้อย ซึ่งก็ถือว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้

7. บางคนบอกว่า กล่องโฟมมันโดนน้ำมันร้อนๆ ก็ละลายทะลุเป็นรูเลย อย่างนี้ไม่อันตรายเหรอ ... ความจริงมันเป็นการขาดออกของสายโพลีสไตรีนจากการถูกน้ำมันร้อน (หรือแม้แต่น้ำมันอื่น ที่มีความเป็นเอสเตอร์สูง เช่น น้ำมันปลา น้ำมันผิวมะนาว หัวเชื้อกลิ่นแมงดา) ไม่ได้เป็นการละลายปลดปล่อยสไตรีนโมโนเมอร์ .. นึกภาพผ้ามุ้ง ถูกไฟจากธูป จี้จนขาดก็ได้

สรุปอีกทีว่า ไม่มีหลักฐานแต่อย่างไรว่า การกินอาหารจากกล่องโฟมก่อให้เกิดโรคมะเร็งครับ .. ดูโปสเตอร์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติประกอบก็ได้

อาจารย์จุฬาฯบอกเอง "กล่องโฟมใส่อาหาร ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ

related