svasdssvasds

ให้ระวังธุรกิจ!! รับจ้างกด LiKe กด Share เสี่ยงผิดกฎหมาย

ให้ระวังธุรกิจ!! รับจ้างกด LiKe กด Share เสี่ยงผิดกฎหมาย

กรณีมีการเสนอข่าวข้อความแจ้งสมาชิกของธุรกิจ Nice Review บนระบบสังคมออนไลน์ Facebook โดยนำภาพตราสัญลักษณ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประกอบ และระบุข้อความว่า “ตามที่ท่านส่งเรื่องร้องเรียนแจ้งเบาะแสผ่านแอพลิเคชั่นแชร์ลูกโซ่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่
ศ.5/7/2019 12:44 เกี่ยวกับธุรกิจ Nice Review ที่อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ

คณะโฆษกรมสอบสวนคดีพิเศษ   ชี้แจงกรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริง ไม่อาจเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้ หากท่านได้รับความเสียหายทางอาญา แนะนำให้ท่านร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป...”

ภายหลังมีประชาชนเข้ามาสอบถามทาง Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษถึงเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมากนั้น ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว ขอชี้แจงต่อสาธารณชนว่า เรื่องดังกล่าวว่า

1. กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งข้อมูลเบาะแสในเรื่องต่างๆ รวมทั้งมีการจัดทำโปรแกรมประยุกต์ชื่อ “ตรวจสอบแชร์ลูกโซ่” ที่ทำงานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามหัวข้อที่กำหนด รวมทั้งมีช่องทางในการแจ้งเบาะแสในส่วนแชร์ลูกโซ่ผ่านโปรแกรมดังกล่าว ซึ่งในการตอบผลการพิจารณาจะเป็นเรื่องระหว่างผู้แจ้งเบาะแสกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเป็นการพิจารณาเบื้องต้น  ตามข้อเท็จจริงที่ได้รับ หากเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ จะแนะนำให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือเข้ามายัง ดีเอสไอ แนะนำให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุหากพบว่าตนเองได้รับความเสียหาย

2. การนำตราสัญลักษณ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและนำไปประกอบข้อความข้างต้นอาจทำให้ประชาชนสับสนว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดที่เป็นคดีพิเศษและกรมสอบสวนคดีพิเศษรับรองแล้ว ดังนั้น พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมอบหมายให้กองบริหารคดีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ  ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว

3. จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่าธุรกิจ Nice Review เป็นการเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่ใช้ระบบสังคมออนไลน์ Facebook ให้กดไลค์ กดแชร์ และให้ความคิดเห็นหรือคอมเม้นท์ในเชิงบวกแก่งานโฆษณาบนระบบเฟสบุ๊คที่ Nice Review เตรียมไว้ในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเพื่อโปรโมทเพจของผู้ประกอบการให้เกิดความน่าเชื่อถือ โดยในการสมัครสมาชิกและมีรหัสให้โดยมีค่าใช้จ่ายในการสมัครด้วย และมีการกำหนดค่าตอบแทนเป็นลำดับชั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวตรงกับคำนิยาม “กู้ยืมเงิน”

โดยตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่รวมถึงการรับสมัครเป็นสมาชิกโดยมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้สมัคร แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีฐานรายได้จากที่ใดที่นำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้สมาชิก และอัตราผลตอบแทนเป็นอย่างไร ซึ่งจะได้ตรวจสอบต่อไป

กรณีดังกล่าวยังอาจเข้าข่ายความผิดอาญาอื่น เนื่องจากการกดไลค์ กดแชร์ และให้ความคิดเห็น หรือคอมเม้นท์ ไม่ได้เกิดจากความต้องการหรือความคิดเห็นที่แท้จริง จึงอาจทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อในสินค้าหรือบริการว่ามีคุณภาพหรือจริงดังคำโฆษณาทั้งที่ไม่เป็นความจริง พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 ในเรื่องการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมในส่วนรวม รวมถึงอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) และ (5) ในการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน รวมทั้งการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่มีลักษณะดังกล่าวก็เป็นความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกด้วย

ให้ระวังธุรกิจ!! รับจ้างกด LiKe กด Share เสี่ยงผิดกฎหมาย

ดีเอสไอ แจ้งเตือนไปยังประชาชนทั่วไปให้พึงระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวให้ทราบว่าแชร์ลูกโซ่มักจะมาในรูปแบบของธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ และโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนในระยะสั้นโดยอ้างว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง โดยใช้วิธีการนำเงินจากผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่จ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าเพื่อให้เห็นว่าธุรกิจสามารถดำเนินการได้จริง ภายหลังที่ระดมทุนได้มากแล้ว จะหยุดดำเนินการและหลบหนีไปพร้อมเงินของผู้เสียหาย ซึ่งจะเกิดความเสียหายลุกลามอย่างรวดเร็ว ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยควรศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจก่อนเข้าร่วมลงทุน และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามหรือให้ข้อมูล

ได้ที่สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ)

related